รีเซต

อังกฤษเปิดตัวเรือไร้คนขับพลังแสงอาทิตย์สำหรับวิจัยทางทะเลโดยใช้ AI และ 5G เดินเรือด้วยตัวเอง

อังกฤษเปิดตัวเรือไร้คนขับพลังแสงอาทิตย์สำหรับวิจัยทางทะเลโดยใช้ AI และ 5G เดินเรือด้วยตัวเอง
TNN ช่อง16
1 มิถุนายน 2565 ( 14:39 )
119
อังกฤษเปิดตัวเรือไร้คนขับพลังแสงอาทิตย์สำหรับวิจัยทางทะเลโดยใช้ AI และ 5G เดินเรือด้วยตัวเอง

การวิจัยทางทะเลหลายครั้งจำเป็นต้องเดินทางไกล ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการเดินเรือพุ่งขึ้นสูงมากทั้งจากค่าเดินทาง จำนวนลูกเรือและนักวิจัย ตลอดจนเสบียงและอุปกรณ์อื่น ๆ ห้องปฏิบัติการทางทะเลแห่งพลีมัธ (Plymouth Marine Laboratory) จึงเปิดตัวต้นแบบเรือไร้คนขับเพื่อลดภาระดังกล่าว รวมถึงติดตั้งเซนเซอร์สำหรับเก็บข้อมูลในการวิจัยได้ด้วยตัวเอง


โอเชียนนัส (Oceanus) เป็นชื่อเรือที่ตั้งตามเด็กคนแรกที่เกิดบนเรือของอังกฤษที่มีชื่อว่าเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower) ในปี 1620 โดยตั้งนี้เพื่อให้เกียรติกับเรือไร้คนขับของไอบีเอ็ม (IBM) ที่มีชื่อเดียวกันกับเรือในปี 1620 ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรือลำนี้ โดยตัวเรือจะมีความยาวอยู่ที่ 23.5 เมตร และกว้าง 3.5 เมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ใบพัดยึดกับใต้ท้องเรือ 2 ตัว โดยใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ชาร์จผ่านแผงโซลาร์เซลล์หรือเครื่องยนต์ดีเซลก็ได้เช่นกัน


เรือโอเชียนนัส (Oceanus) ติดตั้งเซนเซอร์จำนวนมากเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลทางทะเลสำหรับส่งกลับไปยังนักวิจัย รวมถึงระบบโซนาร์ (Multi-Beam Sonar) สำหรับการสำรวจพื้นทะเล ไฟส่องสว่าง กล้องสำหรับถ่ายใต้น้ำ และเซนเซอร์วัดระดับความลึก ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งผ่านเครือข่าย 4G หรือ 5G ตามเวลาจริง (Realtime) รวมถึงใช้เป็นวิธีการแจ้งสถานะของตัวเรือ ตลอดจนรับ-ส่งการประมวลผลโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อให้ตัวเรือสามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้ด้วยตัวเอง


เรือโอเชียนนัส (Oceanus) ถูกวางไว้ให้ใช้เดินทางจากอังกฤษไปยังหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ พื้นที่นอกอาณาเขตของสหราชอาณาจักรซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศอาร์เจนตินาสำหรับการสำรวจข้อมูลทางทะเลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยตัวเรือจะใช้จีพีเอส (GPS) และสถานีตรวจอากาศบนตัวเรือเพื่อการเดินเรืออย่างปลอดภัย รวมถึงยังมีตัวรับส่งสัญญาณดาวเทียมสำหรับส่งข้อมูลการทำงานเพิ่มเติมอีกด้วย 


แผนการเดินทางเพื่อทำการวิจัยนี้ตั้งเป้าหมายรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประมง ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยทางชีวธรณีเคมี (Biogeochemistry) ซึ่งเป็นการสำรวจกระบวนเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพและชีวภาพด้วยกระบวนการทางเคมี เพื่อยกระดับคุณภาพและการเข้าถึงพื้นที่วิจัยใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถเดินทางไปด้วยมนุษย์ได้


อิคารัส อัลเลน (Icarus Allen) ผู้บริหารของห้องปฏิบัติการในพลีมัธกล่าวว่าการสร้างเรือโอเชียนนัส (Oceanus) ก่อนหน้านี้คงเป็นเพียงนิยายไซไฟ (Science Fiction: Sci-Fi) แต่สิ่งที่เราทำในวันนี้กำลังทลายขีดจำกัดและสร้างอนาคตใหม่ในการวิจัยทางทะเลอย่างมหาศาล


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ Plymouth Marine Laboratory

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง