น้ำแข็งขั้วโลกใต้อายุ 5 หมื่นปี ชี้มนุษย์สร้างคาร์บอนไดออกไซด์เร็วกว่าธรรมชาติ 10 เท่า
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน (Oregon State University: OSU) ในสหรัฐอเมริกา คำนวณอัตราการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ สูงกว่าอัตราการปล่อย CO2 ในธรรมชาติถึง 10 เท่า จากการวิเคราะห์น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาที่มีอายุ 50,000 ปี
การวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาจากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตก (WAIS: West Antarctic Ice Sheet) โดยการขุดเจาะน้ำแข็งที่ลึกลงไป 3.2 กิโลเมตร เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างในการศึกษา เนื่องจากน้ำแข็งจะกักเก็บฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเอาไว้ก่อนทับถมตามกาลเวลาจนลึกเป็นระดับกิโลเมตรและมีอายุกว่า 50,000 ปี
โดยผลการศึกษาพบว่า ในอดีตที่ผ่านมา ปริมาณของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric CO2) จะเพิ่มขึ้นในหน่วย 14 PPM (Parts Per Million) ในระยะเวลา 55 ปี เป็นรอบทุก ๆ 7,000 ปี แต่อัตรานี้กลับมีความเร็วเพิ่มขึ้นกว่าอดีตถึง 10 เท่า หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 14 PPM ในระยะเวลาเพียง 5 - 6 ปี เท่านั้น
ข้อมูลในงานวิจัยดังกล่าวได้เติมเต็มภาพรวมสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลก หลังจากที่มีงานวิจัยระบุอัตราการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีดตัวสูงขึ้น (Spike) ในฝั่งขั้วโลกเหนือ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการที่แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากน้ำแข็งได้กักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ แต่เมื่อละลายแล้วแก๊สเหล่านั้นจึงปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ
ผลกระทบดังกล่าวได้กลายเป็นลูกโซ่ทำให้ลมประจําฝ่ายตะวันตก (Westerlies) ที่พัดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกในแนวซีกโลกใต้ (Southern Hemisphere) มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสการพัดพา CO2 เหนือมหาสมุทรมากขึ้น ส่งผลให้มหาสมุทรตามแนวกระแสลมกักเก็บ CO2 ได้ลดลง และจะทำให้โลกร้อนขึ้นต่อไป
ข้อมูลจาก New Atlas
ภาพจาก Oregon State University