อีลอน มัสก์ ว่าแรง ทำไมต้องเสียเวลาพัฒนาเครื่องบินรบ F-35 ชี้พัฒนาโดรนคุ้มค่ากว่า
อีลอน มัสก์ ทวีต (Tweet) ข้อความโจมตีว่า “ทำไมยังมีคนไปพัฒนาเครื่องบินขับไล่ที่ใช้นักบินอย่าง F-35 กันอยู่อีก” พร้อมวิดีโอในทวีตเป็นภาพโดรนแปรขบวน โดยฟอร์บส (Forbes) รายงานว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข่าวความพยายามตั้งกระทรวงใหม่ที่เรียกว่า กระทรวงจัดการประสิทธิภาพรัฐบาล หรือกระทรวงตัดงบ (Department of Government Efficiency: DOGE) ที่มีอีลอน เป็นว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าว
F-35, โดรน, Elon Musk
โดยเหตุผลหลักที่อีลอน มัสก์ใช้สนับสนุนความคิดตัวเองในการสนับสนุนการพัฒนาโดรนแทนการพัฒนาเครื่องบินรบ คือเรื่องของงบประมาณในการพัฒนาตลอดโครงการของ F-35 ที่สูงถึง 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.2 ล้านล้านบาท
อีลอน มัสก์อธิบายว่า “การออกแบบของ F-35 มันพังทั้งแต่ระดับความต้องการที่กำหนดแล้ว เพราะมันถูกกำหนดให้ทำได้หลายอย่างมากไป สำหรับคนหลายกลุ่มมากเกิน มันทำให้ทั้งแพงทั้งซับซ้อน เป็นเอกด้านไม่เป็นอะไรสักอย่าง (master of none) และเครื่องบินขับไล่ที่ใช้นักบินมันล้าหลังในยุคของโดรนอยู่ดี มันมีแต่ทำให้นักบินเสียชีวิตเปล่า ๆ”
รวมถึงมองว่า ภารกิจของเครื่องบินรบในปัจจุบันคือการเข้าไปทิ้งระเบิดทำลายเป้าหมาย หรือการยิงจรวดรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นสิ่งโดรนสามารถพัฒนาไปให้ตรงกับภารกิจในรูปแบบดังกล่าวได้เช่นกัน รวมถึงเทคโนโลยีสเตลธ์ (Stealth) ซึ่งไร้ประโยชน์เมื่อเจอระบบ AI ที่มีกล้องไวแสง
อย่างไรก็ตาม ในทวีตได้เกิดการโต้แย้งต่อประเด็นดังกล่าว โดยยกเรื่องของเทคโนโลยีสเตลธ์ (Stealth) ว่าเป็นข้อได้เปรียบในสมรภูมิ รวมถึงขีดความสามารถของโดรนในปัจจุบันยังไม่สามารถทดแทนเครื่องบินขับไล่ได้
แต่ในขณะเดียวกัน Forbes ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีสเตลธ์ (Stealth) หรือเทคโนโลยีการลดการสะท้อนของเรดาร์ (Radar) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ยังมีข้อถกเถียงว่ามีประสิทธิภาพสูงมากน้อยเพียงใด โดยยกตัวอย่างความล้มเหลวในเทคโนโลยีดังกล่าวกับโดรนของรัสเซีย ที่ใช้ในปฏิบัติการทางทหารว่าเทคโนโลยีสเตลธ์อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบนัก
Elon Musk, Lockheed Martin และ Boeing
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระแสการเข้ามาบริหารกระทรวงใหม่ของอีลอน มัสก์ ในยุคของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ซึ่งในปัจจุบัน งบประมาณรัฐบาลกลางกว่าปีละ 840,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 28.9 ล้านล้านบาท ได้รับการอนุมัติเพื่อจัดซื้อและพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารของประเทศ
โดยเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวมี 5 บริษัท หลักที่ได้ไปก็คือ ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) โบอิง (Boeing) เรธีออน (Raytheon: RTX) เจเนอรัล ไดนามิกส์ (General Dynamics) และนอร์ทธอร์ป กรัมแมน (Northrop Grumman) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหารสำคัญของสหรัฐอเมริกาและนานาชาติ
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่อีลอนทวีตข้อความ ราคาหุ้นของ ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ได้ร่วงลงไปกว่าร้อยละ 3 ก่อนมีการปรับตัวขึ้นมา โดยราคาหุ้นปัจจุบันของ Lockheed Martin (NYSE: LMT) อยู่ที่ประมาณ 525 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,000 บาทต่อหุ้น
โดย 2 ใน 5 บริษัทด้านการทหาร คือล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) และโบอิง (Boeing) มีบริษัทลงทุนร่วมกันคือยูไนเต็ด ลอนช์ อาลิอานซ์ (United Launch Alliance: ULA) ซึ่งทำจรวดขนส่งอวกาศและเป็นคู่แข่งของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) แม้ว่าในปัจจุบันจะเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับ SpaceX Falcon Heavy ที่ได้รับเลือกจาก NASA ในภารกิจอวกาศในปัจจุบันก็ตาม รวมถึง Boeing เองก็มีโครงการอวกาศที่สำคัญอย่างเอสแอลเอส (SLS: Space Launch System) ยานขนส่งอวกาศที่จะใช้ในชุดภารกิจอาร์เทมีส (Artemis) ที่จะพามนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน
ข้อมูล Forbes, The National Interest, Wikipedia (ULA, SLS)
ภาพ Reuters, U.S. Air Force