รีเซต

รวมข่าว "เรือไททัน" ยานดำน้ำลำนี้ มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2021

รวมข่าว "เรือไททัน" ยานดำน้ำลำนี้ มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2021
TNN ช่อง16
25 มิถุนายน 2566 ( 18:57 )
103
รวมข่าว "เรือไททัน" ยานดำน้ำลำนี้ มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2021

ผู้ร่วมทัวร์ไททันชี้พบปัญหาตั้งแต่ปี 2021



อาร์เธอร์ ลอยเบิล นักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน ที่เคยร่วมเดินทางไปกับยานดำน้ำไททัน เพื่อชมซากเรือไททานิคเมื่อปี 2021 เปิดเผยว่า เขาประสบปัญหาต่างๆ กับยานดำน้ำไททันในเวลานั้น โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า และเครื่องปรับแรงดันไฟฟ้ามีปัญหา พร้อมเล่าว่ากำหนดการดำดิ่งสู่ก้นทะเล เพื่อชมเรือไททานิค อยู่ที่ 6 นาฬิกา แต่ต้องล่าช้าออกไป 4 ชั่วโมง เพราะแบตเตอรีไม่ชาร์จไฟ และเมื่อยานไททันลงน้ำ ได้เกิดเสียงดัง และเครื่องปรับแรงดันไฟฟ้าที่อยู่ด้านขวามือของยานไททันเกิดหลวม 


ลอยเบิล บอกอีกว่า เมื่อเข้าใจถึงปัญหาหลังจากที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรมีการอนุญาตให้ใช้ยานไททันอีก นอกจากนี้ ตัวเองเมื่อเห็นข่าวอุบัติเหตุกับยานไททัน ซึ่งผู้เสียชีวิต 2 คนในยานไททัน คือ สต็อกตัน รัช ซีอีโอของบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชั่นส์ และพอล อองรี นาร์จีโอเลต นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ซึ่งเคยร่วมเดินทางไปกับลอยเบิล ในยานไททันเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2021 เขาก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก 



ลูกเลี้ยงเชื่อพ่อรู้สึกซาบซึ้งได้ตายใกล้ไททานิค



ด้านนาย จอห์น พาสคอลล์ ลูกเลี้ยงของ พอล-อองรี นาร์เกโอเลต วัย 77 ปี นักสมุทรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือดำน้ำไททันระเบิด เจ้าของฉายา “มิสเตอร์ ไททานิค”  และเป็นเพื่อนกับเจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ “ไททานิค”  โดย  เขาเชื่อว่า พ่อเลี้ยงคงรู้สึกว่าการตายของมีความหมายเนื่องจากเขาได้ตายใกล้ในสิ่งที่เขาชื่นชอบ

นาย พาสคอลล์ ยังเล่าว่า พ่อเลี้ยงของเขามองมหาสมุทรเป็นเหมือนบ้านอีกหลัง และรู้สึกสบายเมื่ออยู่ในมหาสมุทร แม้ว่าจะมีความเสี่ยง แต่เขาก็พร้อมจะยอมรับมัน   ไททานิคมีค่าสำหรับเขามาก  

  

 มีรายงานว่า พอล-อองรี นาร์เกโอเลต อดีตนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศส   ใช้เวลาอยู่ในซากเรือนานกว่านักสำรวจคนอื่น ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของคณะสำรวจแรกที่ไปเยี่ยมชมซากเรือไททานิกในปี 1987 เพียงสองปีหลังการค้นพบ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยใต้น้ำของบริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ในซากเรือไททานิคอีกด้วย โดยเขาเคยลงไปสำรวจไททานิคแล้วมากกว่า 30 ครั้ง 



แคนาดาสอบคนบนเรือ "โพลาร์ ปรินซ์"



ทีมสอบสวนของแคนาดาเข้าตรวจสอบเรือ โพลาร์ ปรินซ์ ทันทีหลังแล่นเข้าจอดท่าเรือเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา  ซึ่งเรือโพลาร์ ปรินซ์นี้ เป็นเรือที่ปล่อยเรือดำน้ำไททันลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก จนทำให้ประสบเหตุเรือดำน้ำไททัน เผชิญกับแรงดันน้ำจนเกิดการระเบิดสู่ภายในอย่างรุนแรง ทำให้ 5 ชีวิตบนเรือเสียชีวิตแทบทันที ทั้งนี้ได้มีการลดธงครึ่งเสาบนเรือโพลาร์ ปรินซ์เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุยานดำน้ำ ไททัน ระเบิดด้วย  ตามรายงานระบุว่า มีคนบนเรือโพลาร์ ปรินซ์ 41 คน ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของเรือสนับสนุนโพลาร์ ปรินซ์ และสมาชิกบางคนในครอบครัวของคนที่เดินทางไปกับเรือดำน้ำไททัน 5 คน


เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของแคนาดา ได้ขึ้นไปบนเรือโพลาร์ ปรินซ์ หลังจากเรือลำนี้ได้แล่นเข้าเทียบท่าเรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการสอบสวนคนบนเรือว่า ทำไมรอเวลานานถึง 8 ชั่วโมง หลังจากเรือดำน้ำไททันได้สูญหายไป จึงเพิ่งแจ้งมายังหน่วยยามฝั่ง ทั้งที่เรือดำน้ำไททันได้ขาดการติดต่อกับเรือแม่โพลาร์ ปรินซ์ หลังจากถูกปล่อยและดำสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที  


ทีมสอบสวนยังกำลังตรวจสอบวัสดุที่ใช้สร้างผนังด้านนอกของยานดำน้ำไททันด้วย ตามที่ข้อสันนิษฐานของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ระบุว่า วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียมจะนำไปสู่การหลุดลอก (delamination) และทำให้มีน้ำรั่วซึมในระดับที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (microscopic water ingress) ซึ่งก่อความเสียหายในระยะยาว โดยจากภาพภายในยานทันที่เผยแพร่ จะเห็นการเจาะจอคอมพวเตอร์เข้ากับผนังยาน จึงอาจเป็นจุดเปราะบางให้น้ำรั่ว


  ในขณะที่คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการคมนาคมของแคนาดา เผยว่า การสอบสวนในเหตุการณ์อาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเลยทีเดียวและอาจเป็นการพุ่งเป้าโฟกัสเกี่ยวกับการปรับปรุงความปลอดภัย มากกว่าการสอบสวนในคดีอาญา


เรือโพลาร์ ปรินซ์ จะแล่นออกจากท่าเรือเมืองเซนต์จอห์น เดินทางเป็นระยะทางไกลถึง 453 ไมล์ หรือราว 700 กิโลเมตร ในการไปปล่อยเรือดำไททัน กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ลงไปชมซากเรือไททานิค ที่จมอยู่ก้นมหาสมุทรในระดับความลึกถึง 3,800 เมตร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนที่เรือดำน้ำไททันได้ขาดการติดต่อไปอย่างปริศนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง