รีเซต

ไวรัสกำจัดมะเร็งระยะลุกลาม เริ่มนำมาใช้รักษาในมนุษย์เป็นครั้งแรกแล้ว !!

ไวรัสกำจัดมะเร็งระยะลุกลาม เริ่มนำมาใช้รักษาในมนุษย์เป็นครั้งแรกแล้ว !!
TNN ช่อง16
24 พฤษภาคม 2565 ( 21:16 )
207

การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีหลากหลายแนวทาง ทั้งการฉายรังสี, การใช้ยาเคมีบำบัด หรือการใช้ยามุ่งเป้า ทว่ามะเร็งบางชนิดอาจไม่ตอบสนองต่อการักษาเหล่านี้ หรือมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการรักษามะเร็งระยะลุกลาม นักวิทยาศาสตร์จึงต้องค้นหาวิธีการรักษาใหม่ ๆ ที่สามารถจัดการมะเร็งที่รักษาได้ยากนี้




นักวิทยาศาสตร์จากบริษัทอิมูจีน (Imugene) จากประเทศออสเตรเลียได้ศึกษาวิธีการกำจัดมะเร็งด้วย "ไวรัส" จนกระทั่งองค์กรวิจัยและรักษาโรคมะเร็งจากสหรัฐอเมริกา “The City of Hope” ได้นำวิธีการรักษาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ และกำลังเข้าสู่การทดลองในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการนำวิธีการรักษามาใช้กับอาสาสมัครผู้ป่วยโรคมะเร็ง


อย่างไรก็ตาม กลไกการทำงานของไวรัสไม่ได้เข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง หากแต่มันมีหน้าที่ “สร้างสิ่งแปลกปลอม” เข้าไปเกาะติดกับผิวเซลล์มะเร็ง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้ามากำจัดเซลล์มะเร็งที่มีชิ้นส่วนของไวรัสเกาะอยู่บนผิวเซลล์


ที่มาของภาพ NIAID

 


นักวิทยาศาสตร์นำไวรัสกลุ่มพอกซ์ (Poxvirus) มาปรับแต่งพันธุกรรมเสียใหม่ หลังจากที่พวกมันเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยแล้ว มันจะเข้าไปยึดเซลล์บางส่วนในร่างกายแล้วทำการเพิ่มจำนวนอนุภาคของไวรัส เมื่อเพิ่มจำนวนได้ที่ไวรัสจะทำให้เซลล์แตกและปลดปล่อยอนุภาคเหล่านั้นออกมา ซึ่งอนุภาคนี้เองที่จะล่องลอยไปเกาะติดตามผิวเซลล์มะเร็ง (นั่นหมายความว่าอาจมีเซลล์บางส่วนในร่างกายโดนทำลายไปบ้างเพื่อให้ไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกาย ทว่า กระบวนการนี้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด)


อนุภาคที่เข้ามาเกาะติดผิวเซลล์มะเร็งจะทำหน้าที่เสมือนสิ่งแปลกปลอม หรือที่เรียกกันว่า แอนติเจน (Antigen) ซึ่งแอนติเจนนี้จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าใจว่าเซลล์มะเร็ง คือ เชื้อโรคหรือเซลล์แปลกปลอมที่เข้ามารุกรานร่างกายของเรา ภูมิคุ้มกันก็จะเข้าทำลายเซลล์มะเร็งที่มีอนุภาคของไวรัสเกาะติดอยู่ กระบวนการนี้ใช้หลักการเดียวกันกับการกำจัดแบคทีเรียของภูมิคุ้มกัน เพราะผิวเซลล์ของแบคทีเรียเองจะมีโปรตีนหรือแอนติเจนบางอย่างที่เป็นสิ่งแปลกปลอม สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้


Science Source

 


แนวคิดในการพัฒนาวิธีการกำจัดเซลล์มะเร็งด้วยอนุภาคไวรัสเกาะผิวเซลล์นี้ เป็นการต่อยอดจากความรู้ที่เดิมร่างกายมีกลไกกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติ หรือเซลล์ที่มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งอยู่แล้วด้วยระบบภูมิคุ้มกัน แต่เซลล์มะเร็งที่พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายนี้มีความสามารถในการหลบซ่อนระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่สามารถเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ อีกทั้งมะเร็งในระยะลุกลามยังมีจำนวนมากเกินที่ภูมิคุ้มกันจะค้นหาเจอได้ทั้งหมด การใช้อนุภาคของไวรัสเกาะติดที่ผิวเซลล์จึงเปรียบเสมือนการ “ปักธง” บอกตำแหน่งที่ซ่อนของเซลล์มะเร็ง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันเข้าไปกำจัดเนื้อร้ายได้โดยง่ายนั่นเอง


วิธีการรักษามะเร็งด้วยไวรัสจากบริษัทอิมูจีน ได้รับการจดทะเบียนภายใต้ชื่อแวซิเนีย (CF-33-hNIS หรือ Vaxiniaซึ่งผลการทดลองในสัตว์พบว่ามันสามารถลดขนาดก้อนมะเร็งลำไส้, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่ และมะเร็งตับอ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยเมื่อเทียบกับการให้ยาเคมีบำบัดที่อาจออกฤทธิ์ต่อเซลล์ในร่างกายด้วย


ที่มาของภาพ Imugene

 


การทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็งในขั้นที่ 1 มีผู้เข้าร่วมการทดลองกว่า 100 ราย ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะที่ 3 และ 4 (ระยะลุกลาม) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายรังสี ซึ่งในระหว่างการรักษานี้ผู้ป่วยจะได้รับยาที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดมะเร็งด้วย


หากการรักษาครั้งนี้สามารถกำจัดมะเร็งได้จริงโดยไม่มีผลข้างเคียงที่อันตรายต่อผู้ป่วยแล้ว จึงจะเข้าสู่การทดลองในขั้นถัดไปในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกราว 2 ปี จึงจะสามารถยื่นขออนุมัติจากองค์การอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา (FDA) เพื่อนำมาใช้รักษาในโรงพยาบาลได้


ขอขอบคุณข้อมูล Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง