"เวลา" กลาง "เอกภพ" ช้ากว่าโลก 5 เท่า ตอกย้ำว่าคำทำนายไอน์สไตน์นั้นถูกต้อง !
ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ในออสเตรเลีย ค้นพบปรากฏการณ์ยืดออกของเวลา (Time Dilation) ณ บริเวณที่เรียกว่า เควซาร์ (Quasar) ซึ่งเป็นวัตถุท้องฟ้า (Celestial object) ใกล้กับศูนย์กลางจักรวาล มีเวลาที่ช้ากว่าโลกถึง 5 เท่า ซึ่งแปลว่าคำทำนายที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เคยบอกว่าจักรวาลมีเวลาที่ช้ามาก ๆ ณ จุดเริ่มต้นเป็นเรื่องจริง
การยืดออกของเวลาคืออะไร
การยืดออกของเวลา หรือไทม์ ดิเลชัน (Time Dilation) เป็นปรากฏการณ์ทางทฤษฎีที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ใช้อธิบายว่าเวลาไม่ได้มีค่าเดียวกันทั้งจักรวาล แต่เปลี่ยนไปตามความเร็วของวัตถุในเอกภพที่สัมพันธ์กับความเร็วแสง (Speed of light - c: 3 ร้อยล้านเมตรต่อวินาที) ความเร็วที่ไม่มีสิ่งใดเหนือกว่าได้ โดยหลักการนี้อยู่ในทฤษฎีที่ชื่อว่าสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity)
โดยไอน์สไตน์ยังใช้ทฤษฎีดังกล่าวยังอธิบายว่าจักรวาลนั้นมีเวลาในช่วงการก่อกำเนิดที่เดินช้ามากถ้าเทียบกับเวลาที่มนุษย์ใช้อ้างอิงในปัจจุบัน โดยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องแล้ว แต่คำทำนายที่อิงจากทฤษฎีนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
เวลาของ Quasar คือข้อพิสูจน์คำทำนายของไอน์สไตน์
นักดาราศาสตร์ทั้งจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ภายใต้นามมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้พบว่าเวลาบนเควซาร์นั้นเดินช้ากว่าเวลาที่เราใช้อ้างอิงบนโลกถึง 5 เท่า โดยการคำนวณจับเวลาบนเควซาร์ 200 จุด เป็นเวลากว่า 20 ปี เทียบกับโลก ทำให้พบว่า แสงที่ทำให้เห็นเควซาร์เป็นแสงจาก 12,000 ล้านปีก่อน
หรือพูดอีกทางหนึ่งว่าเควซาร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการกำเนิดเอกภพเพียงหลักพันล้านปี เท่านั้น เพราะเอกภพมีอายุ 13,700 ล้านปี ตามทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang) ที่เป็นจุดกำเนิดของจักรวาล และในเมื่อแสงที่มาจากเควซาร์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว ความต่างของเวลาที่มหาศาลนี้จึงเป็นข้อยืนยันว่าสิ่งที่ไอน์สไตน์เคยทำนายไว้เป็นความจริง
ในปี 2010 ได้มีความพยายามหาปรากฏการณ์เพื่อมายืนยันคำทำนายของไอน์สไตน์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การค้นพบในครั้งนี้ได้กลายเป็นข้อยืนยันอีกครั้งว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือสุดยอดอัจฉริยะผู้วางรากฐานการสำรวจเอกภพ
ที่มาข้อมูล Yahoo News, Futurism, The Guardian, Daily Star, Slashgear
ที่มารูปภาพ University of Sydney