รีเซต

ESA และ NASA เตรียมส่ง “LISA” ไปอวกาศเพื่อตรวจจับระลอกคลื่นของจักรวาล

ESA และ NASA เตรียมส่ง “LISA” ไปอวกาศเพื่อตรวจจับระลอกคลื่นของจักรวาล
TNN ช่อง16
30 มกราคม 2567 ( 10:10 )
51
ESA และ NASA เตรียมส่ง “LISA” ไปอวกาศเพื่อตรวจจับระลอกคลื่นของจักรวาล

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) อนุมัติภารกิจ “ลิซ่า (LISA)” หรือชื่อเต็มคือ Laser Interferometer Space Antenna ซึ่งเป็นความพยายามทางวิทยาศาตร์ในการตรวจจับและศึกษาระลอกคลื่นของจักรวาล



ภาพจาก ESA

 

โดยองค์การอวกาศยุโรป จะดำเนินโครงการร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ของสหรัฐฯ และมีกำหนดการปล่อยยานลิซ่าในปี 2035 ด้วยจรวด เอเรียน ซิก (Ariane 6)  โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีมูลค่าสูงและซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่หน่วยงานเคยดำเนินการมา


สำหรับระลอกคลื่นจักรวาล (Cosmic ripples) หรือที่เรียกว่าคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Waves) เป็นระลอกคลื่นของกาล-อวกาศ ที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเกิดจากการที่วัตถุที่มีมวลขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เช่น การชนกันของหลุมดำ


ในการสำรวจครั้งนี้ ลิซ่า ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มยานอวกาศ 3 ลำ จะเดินทางทำมุมกันในรูปแบบ 3 เหลี่ยม โดยที่ยานอวกาศแต่ละลำจะอยู่ห่างกัน 2.5 ล้านกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ถึง 6 เท่า และยานอวกาศทั้ง 3 ลำ จะฉายแสงเลเซอร์ระหว่างกัน ซึ่งการเคลื่อนที่ในรูปของสามเหลี่ยมเลเซอร์นี้ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับและศึกษาคลื่นความโน้มถ่วงได้



ภาพจาก ESA

 

สำหรับเทคโนโลยีเบื้องหลังการทำงานของลิซ่านี้ ได้รับการทดสอบในอวกาศและประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ผ่านภารกิจ LISA Pathfinder ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งดำเนินการไปในระหว่างปี 2015-2017จนกระทั่งปัจจุบันด้วยความร่วมมือครั้งใหม่ ลิซ่าจึงพร้อมที่ขยายขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับจักรวาล และให้ข้อมูลเชิงลึกได้มากขึ้น


ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ระบุว่าคลื่นความโน้มถ่วง เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของวัตถุมวลมากในห้วงอวกาศ ทำให้เกิดระลอกคลื่นของกาล-อวกาศที่แผ่ออกไปไม่สิ้นสุด นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าด้วยโครงการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงในอวกาศนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ เข้าใจประวัติศาสตร์ของจักรวาล ย้อนกลับไปก่อนที่ดวงดาวและกาแล็กซีจะก่อตัวขึ้น หรือแม้แต่ให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุการณ์บิ๊กแบงในไม่กี่วินาทีแรกได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ข้อมูลจาก thenextweb, interestingengineeringesa.intsheet, esa.int/Science

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง