รีเซต

โคลอมเบียตกลงซื้อกริพเพ่น (JAS 39 Gripen) ขึ้นแท่นเป็นกองทัพอากาศที่ 7 ของโลกที่ใช้งาน

โคลอมเบียตกลงซื้อกริพเพ่น (JAS 39 Gripen) ขึ้นแท่นเป็นกองทัพอากาศที่ 7 ของโลกที่ใช้งาน
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2568 ( 13:45 )
14

กุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) ประธานาธิบดีประเทศโคลอมเบียประกาศแผนจัดซื้อเครื่องบินขับไล่พหุภารกิจยาส 39 กริพเพ่น อีเอฟ (JAS 39 Gripen E/F) เข้าประจำการในกองทัพอากาศ โดยประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่บนบัญชีเอ็กซ์ (X, Twitter) ของประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา หลังก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวลือว่าดีลอาจล่มเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ Gripen นำเครื่องยนต์ GE F414 ติดตั้งและขายให้ต่างประเทศ



ประกาศการจัดซื้อ JAS 39 Gripen ของโคลอมเบีย

ในประกาศดังกล่าวระบุว่าจะซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen ที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยยังไม่ระบุจำนวนอย่างเป็นทางการ แต่จะเป็น Gripen E/F แบบเดียวกันกับที่บราซิลได้สิทธิ์ในการผลิตและส่งเข้าประจำการในกองทัพอากาศบราซิล

ด้านเอวิแอกออนไลน์ (Aviac Online) สำนักข่าวด้านอากาศยาน ระบุรายละเอียดว่าในข้อตกลงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen มีการทำมาตรการชดเชยทางเศรษฐกิจ (Offset) ในการจัดซื้อใน 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์แบบยืดหยุ่น การติดตั้งระบบผลิตน้ำประปาหลายแห่ง และการติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูงในโรงพยาบาลในกรุงโบโกตา (Bogotá) เมืองหลวงของโคลอมเบีย

JAS 39 Gripen กับสงครามการค้าอเมริกาและโคลอมเบีย

Gripen E/F เป็นเครื่องบินขับไล่พหุภารกิจยุค 4.5 ที่รองรับปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการประสานงานระหว่างการขับเครื่องบินด้วยมนุษย์และโดรน รวมถึงรองรับการควบคุมการบินด้วยคอมพิวเตอร์ (Fly-by-wire control) เปิดตัวครั้งแรกในปี  2014 พร้อมความสามารถในการยิงอาวุธประเภทต่าง ๆ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สัญชาติอเมริกัน เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric: GE) รุ่น F414G 

ทั้งนี้ อาร์มมี เรกค็อกนิชัน (Army Recognition) สำนักข่าวด้านการทหารในต่างประเทศระบุว่า ก่อนหน้านี้ประเทศสหรัฐอเมรกิาได้ใช้สิทธิ์โต้แย้ง (Veto) ในการให้ใบอนุญาตส่งออกและประกอบเครื่องยนต์ GE F414G ให้กับบริษัท ซาบ (Saab) ผู้พัฒนาเครื่องบินขับไล่ Gripen ซึ่งมีแผ่นขายเครื่องบินให้กับประเทศโคลอมเบีย ซึ่งคาดกันว่าอาจเป็นหนึ่งในการตอบโต้เพื่อบีบให้โคลอมเบียเลือกจัดซื้อเอฟ-16 ไฟต์ติง ฟอลคอน (F-16 Fighting Falcon) จากบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ของสหรัฐอเมริกาแทน

JAS 39 Gripen และอนาคตของโคลอมเบีย

ท่ามกลางปัญหาทางการเมืองและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สวีเดน และโคลอมเบีย การตัดสินใจเลือกจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen นั้นเป็นไปตามความต้องการของกองทัพอากาศโคลอมเบียที่ต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่ที่มีศักยภาพมาทดแทน ไอเอไอ คเฟอร์ (IAI Kfir) เครื่องบินขับไล่ยุค 1960 ของอิสราเอลที่มีอายุการใช้งานอย่างยาวนาน ซึ่งประจำการในกองทัพอากาศฯ จำนวน 23 ลำ

ทางด้านเดอะ ริโอ ไทม์ส (The Rio Times) สำนักข่าวในบราซิลระบุในเดือนกุมภาพันธ์ว่า มูลค่าโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen อาจอยู่ที่ประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 110,000 ล้านบาท และถ้าการจัดซื้อเกิดขึ้นจริง กองทัพอากาศโคลอมเบียจะกลายเป็นชาติที่ 7 ต่อจาก สวีเดน บราซิล ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก แอฟริกาใต้ และไทย ที่มีเครื่องบินขับไล่ Gripen (ทุกรุ่นย่อย) เข้าประจำการ สำหรับจำนวนที่ประเทศโคลอมเบียจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 16 ถึง 24 ลำ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง