รีเซต

Google กำลังพิจารณาเก็บเงินค่าค้นหา ? เสริมพลัง AI ให้กับสมาชิกที่จ่ายแบบพรีเมียม

Google กำลังพิจารณาเก็บเงินค่าค้นหา ? เสริมพลัง AI ให้กับสมาชิกที่จ่ายแบบพรีเมียม
TNN ช่อง16
5 เมษายน 2567 ( 19:11 )
39
Google กำลังพิจารณาเก็บเงินค่าค้นหา ? เสริมพลัง AI ให้กับสมาชิกที่จ่ายแบบพรีเมียม

กูเกิล (Google) ในฐานะเสิร์ชเอนจินที่ใหญ่และได้รับความนิยมที่สุดในโลก ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมักจะใช้งานในการค้นหาข้อมูลแบบฟรี ๆ แต่ล่าสุดสื่อดังอย่างไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) รายงานว่ากูเกิลกำลังร่างแผนเรียกเก็บเงินสำหรับฟีเจอร์ค้นหาแบบ "พรีเมียม" สำหรับสมาชิก (Subscription) ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของเสิร์ชเอนจินด้วยการรวมความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัท อย่าง Gemini เข้ามาด้วย 


ด้านเดอะ การ์เดี้ยน (The Guardian) มีรายงานว่าบริษัทได้ทดลองใช้งานรุ่นเบต้าแล้ว ซึ่งการค้นหาแบบมี AI เข้ามาช่วย จุดเด่นคือจะทำให้ได้คำตอบโดยตรงเพียงคำตอบเดียวทันที ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการสนทนากับแชทบอทชื่อดังอย่างแชทจีพีที (ChatGPT) 


ข้อเสนอใหม่ของกูเกิลจะทำให้ลูกค้าที่จ่ายเงิน ใช้งานเสิร์ชเอนจินได้ในความสามารถสูงขึ้นและฟังก์ชันการทำงานที่มากกว่าคนทั่วไป แต่ยังไม่มีรายละเอียดอื่น ๆ เผยออกมา ส่วนผู้ที่ไม่ได้จ่ายเงินให้กับบริการไม่ต้องตกใจ เพราะยังใช้ช่องค้นหาของกูเกิลเสิร์ชแบบเดิมได้ฟรี ๆ 


อันที่จริง ปัจจุบันกูเกิลได้มีเรียกเก็บเงินกับลูกค้าที่ต้องการใช้ AI ที่ชื่อว่าเจมิไน (Gemini) ในการเป็นผู้ช่วยในเครื่องมืออื่น ๆ ของกูเกิลอยู่แล้ว เช่น จีเมล (Gmail) และชุดโปรแกรมออฟฟิศอื่น ๆ ในราคาเริ่มต้นที่ 24 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 880 บาทต่อเดือน และยังถือเป็นครั้งแรกของบริษัท ที่ "ฟีเจอร์การค้นหา" ซึ่งเป็นบริการหลักของบริษัทจะมีการเรียกเก็บเงินนับตั้งแต่เปิดตัวเสิร์ชเอนจิน 


การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานที่แสนแพง 


สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะบริษัทมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการให้บริการ เฮเธอร์ ดอว์ (Heather Dawe) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างยูเอสที (UST) กล่าวว่า “การค้นหาด้วย AI มีค่าใช้จ่ายในการคำนวณสูงกว่าการค้นหาแบบเดิมของกูเกิล ดังนั้นการเรียกเก็บเงิน ก็ถือเป็นสิ่งที่กูเกิลพยายามชดเชยค่าใช้จ่ายในการคำนวณเหล่านั้น”


ทั้งนี้หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การทำงานของ AI มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น คือการใช้พลังคอมพิวเตอร์ในการฝึกโมเดลของ AI อย่างเช่นใน 2023 เจมส์ ฮามิลตัน (James Hamilton) วิศวกรของบริษัทเทคใหญ่อย่างแอมะซอน (Amazon) ก็กล่าวว่า แอมะซอนฝึกอบรม AI เพียงครั้งเดียว มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,400 ล้านบาทเลยทีเดียว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) และไมโครซอฟต์ (Microsoft) ก็ประกาศสร้างศูนย์ข้อมูลมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท เพื่อเอาไว้ฝึก AI 


แต่นักวิเคราะห์เบรนท์ ธิล (Brent Thill) จากบริษัทการลงทุนเจฟเฟอรีส์ (Jefferies) บอกว่าค่าใช้จ่ายในการฝึก AI นั้นเป็นเพียง 1 ใน 10 ของต้นทุนในภาคส่วน AI เท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ จ่ายไปกับการประมวลผล (Running) มากกว่าการฝึก (Training) และกว่า 90% ของค่าใช้จ่ายในการประมวลผล ใช้ไปกับการอนุมาน (AI Inferencing ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ AI จะนำความรู้ที่ได้จากการฝึกมาใช้งานจริง คล้ายกับที่มนุษย์ใช้ความรู้ที่มีอยู่มาตัดสินใจเลย โดยไม่ต้องเริ่มใหม่ทุกครั้ง)


คู่แข่งในตลาด AI ใครเก็บเงินแล้วบ้าง 


ทั้งนี้ เริ่มมีเครื่องมือค้นหาด้วย AI บางราย ที่ต้องสมัครสมาชิกเพื่อใช้งานบ้างแล้ว เช่น เสิร์ชเอนจิน เพอร์เพล็กซิตี้ (Perplexity) ราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 730 บาทต่อเดือน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเสิร์ชเอนจินอีกหลายเจ้าที่ยังให้บริการฟรี เช่น บิง (Bing) ของไมโครซอฟต์ (Microsoft) แต่ต้องผูกกับบราวเซอร์ เอดจ์ (Edge) หรืออีกเจ้าคือสตาร์ตอัปอย่างอาร์ค (Arc) ที่ยังไม่เก็บเงินค่าบริการ แต่บริษัทเผยว่าในอนาคตจะเพิ่มรายได้ด้วยการเรียกเก็บเงินจากฟีเจอร์ทางธุรกิจ


สำหรับกูเกิลถือเป็นเสิร์ชเอนจินที่มีผู้นิยมใช้งานมากที่สุดในโลก ตามข้อมูลจากเว็บไซต์สถิติอย่างสตาติสตา (Statista) ชี้ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 80% ใช้เสิร์ชเอนจินกูเกิล มีผู้ใช้งานมากกว่าพันล้านรายต่อวัน 


ขณะที่ ปี 2023 อัลฟาเบท (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล มีรายได้ 3.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11.28 ล้านล้านบาท ซึ่งรายได้มากกว่าครึ่งก็มาจากกูเกิลเสิร์ช ด้วยรายได้ 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.43 ล้านล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ยังไม่มีการยืนยันหรือประกาศออกมาอย่างเป็นทางการจากกูเกิล ซึ่งหากมันเกิดขึ้นจริง ก็จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายได้ของบริษัทครั้งใหญ่


ที่มาข้อมูล Theguardian, BBC

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง