รีเซต

รู้จัก “โรคลัมปี สกิน” วิกฤตโรคระบาดในสัตว์ ที่ไทยกำลังเผชิญ

รู้จัก “โรคลัมปี สกิน” วิกฤตโรคระบาดในสัตว์ ที่ไทยกำลังเผชิญ
Ingonn
31 พฤษภาคม 2564 ( 09:36 )
40.9K

สำหรับมนุษย์โควิด-19 เป็นโรคที่สร้างการเจ็บป่วยล้มตายเป็นอย่างมาก ส่วนสัตว์ก็คงไม่พ้นโรคอบุติใหม่อย่าง “โรคลัมปี สกิน” โรคระบาดอีกโรคหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ เดือดร้อนหนัก ซึ่งเริ่มระบาดเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในประเทศไทย จนทำให้โค กระบือล้มตายไปจำนวนมาก ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบจากเนื้อเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบตามกันไป วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมารู้จักโรคนี้กัน

 

 

 


“โรคลัมปี สกิน” คืออะไร มาจากไหน


โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อในโคกระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้กิดจากเชื้อไวรัส 𝘓𝘶𝘮𝘱𝘺 𝘴𝘬𝘪𝘯 𝘥𝘪𝘴𝘦𝘢𝘴𝘦 𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 ในสกุล 𝘊𝘢𝘱𝘳𝘪𝘱𝘰𝘹𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 

 

โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชียตั้งแต่ปี 2562 ในจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศ และอินเดีย หลังจากนั้น ในปี 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนามและพม่า ประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศและเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศพม่า โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หากพบสัตว์มีอาการต้องสงสัย ต้องเเจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป “รู้เร็ว สงบโรคเร็ว”

 

 

ระบาดครั้งแรกในไทย เมื่อปลายเดือน มี.ค. ใน อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด กระทั่งแพร่กระจายไปทั่วใน 35 จังหวัด ทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ เบื้องต้นมีสัตว์ป่วย จำนวน 7,200 ตัว และตาย 53 ตัว

 

 

 

 

“โรคลัมปี สกิน” ติดต่อได้อย่างไร


การติดต่อของโรคนี้ ติดจากแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน และอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ ติดจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน

 

 


อาการ “โรคลัมปี สกิน”


สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา

 

นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง

 

 

 

สังเกตอาการ  “โรคลัมปี สกิน” ตามระยะ


จะเป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะดังนี้

 

ระยะที่ 1 มีไข้ โค กระบือ จะซึมไม่กินอาหาร มีไข้อาจมีน้ำตาและน้ำมูกในลูกสัตว์โดยมักจะพบในระยะ 1-2 วันแรกก่อน หรือพร้อมๆ กับการพบว่าสัตว์มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง แต่สัตว์ป่วยบางรายอาจสังเกตไม่พบระยะนี้

 

 

ระยะที่ 2 มีตุ่มที่ผิวหนัง โค กระบือ มีต่อมน้ำเหลืองใต้ผิวหนังบวม มีตุ่มแข็งนูนลักษณะคล้ายฝี ขนาดแตกต่างกันที่ผิวหนังทุกชั้นและบางครั้งอาจพบลึกลงไปจนถึงกล้ามเนื้อ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณการติดเชื้อ ความแข็งแรงของสัตว์ และสายพันธุ์ บางตัวพบอาการบวมน้ำที่บริเวณลำคอ สาเหตุจากหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) หรือการกดทับของตุ่มที่ผิวหนังหรือต่อมน้ำเหลืองที่บวม ในลูกสัตว์มักจะแสดงอาการมากกว่าสัตว์โต และอาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ สำหรับกระบือจะพบเป็นตุ่มเล็กๆ ซึ่งสังเกตได้ยากเนื่องจากผิวกระบือมีผิวหนังหนา

 

 

ระยะที่ 3 ตุ่มที่ผิวหนังแตก โดยเริ่มสังเกตพบมีน้ำเหลืองเยิ้มซึมจากตุ่ม มีสะเก็ดหนา เมื่อตุ่มแตกจะเป็นแผลหลุมมีขอบแผลนูนสูง ซึ่งระยะเวลาการแตกของตุ่มผิวหนังจะไม่พร้อมกัน ระยะที่พบขอบตุ่มสีดำพบได้ในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังพบตุ่ม และภายใน 2-3 สัปดาห์จะเกิดเป็นสะเก็ดแผลขึ้น แต่ในบางตัวที่พบกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อาจพบว่าสะเก็ดอยู่ได้นาน 1-2 เดือน

 

 

ระยะที่ 4 แผลเริ่มหาย เป็นระยะเริ่มมีการหายของแผล วงแผลจะแคปลงและตื่นขึ้นจนปิดสนิท และสีขนอาจเปลี่ยนไปในช่วงแรก โดยหากสัตว์เข้าสู่ระยะนี้มีความเป็นไปได้ว่าสัตว์ได้รับเชื้อและแสดงอาการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

 

 


แนวทางการรักษา “โรคลัมปี สกิน”

 

สำหรับแนวทางการรักษานั้น เนื่องจากโรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียารักษาเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ และการบำรุงร่างกายให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง โดยเน้นวิธีการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในอวัยวะที่มีเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelial cell) เช่น บาดแผลที่ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการรักษาจัดเป็นศาสตร์และศิลป์ และขึ้นอยู่กับเวชภัณฑ์ที่มี โดยสรุปแนวทางการรักษามีดังนี้

 

 

ระยะที่ 1 มีไข้

 

1.ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ที่เน้นฤทธิ์ลดไข้ เช่น Dipyrone หรือ Tolfenamic acid หรือ Flunixin meglumine


2.ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรงโดยเฉพาะเป้าหมายที่เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เช่น วิตามิน AD3E แบบฉีดหรือพิจารณาให้วิตามินและแร่ธาตุแบบกิน

 

ระยะที่ 2 มีตุ่มที่ผิวหนัง

 

1.ให้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เน้นฤทธิ์ลดการอักเสบ เช่น Tolfenamic acid หรือ Flunixin meglumine และอาจพิจารณาให้ร่วมในการรักษากรณีที่ลูกสัตว์ที่แสดงอาการทางเดินหายใจ


2.ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรง โดยเฉพาะอวัยวะเป้าหมายที่เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เช่น วิตามิน AD3E แบบฉีด หรือพิจารณาให้วิตามินและแร่ธาตุแบบกิน

 


*กรณีลูกโค หรือโคที่มีอาการทางเดินหายใจ บวมที่ลำคอ หายใจลำบาก และมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอาจพิจารณาเลือกให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีในระบบทางเดินหายใจ เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Cephalosporin

 

 

ระยะที่ 3 ตุ่มที่ผิวหนังแตก

 

1.ให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างและออกฤทธิ์ได้ดีที่ผิวหนัง เช่น กลุ่ม Penicillin


2.ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่และยาป้องกันแมลงตอมวางไข่ที่แผล เช่น การใช้ Gentian violet ร่วมกับยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวันหรือยาสมุนไพรทากีบ


3.ใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เน้นออกฤทธิ์ลดการอักเสบ เช่น Tolfenamic acid หรือ flunixin meglumine กรณีที่ลูกสัตว์มีอาการทางเดินหายใจ อาจพิจารณาให้ยาลดการอักเสบ flunixin meglumine (เพื่อช่วยลดผลกระทบจาก endotoxin จากการติดเชื้อแบคทีเรีย)


4.ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรง โดยเฉพาะอวัยวะเป้าหมายที่มีเซลล์เยื่อบุผิว เช่น AD3E

 


*กรณีลูกโคหรือโคที่มีอาการทางเดินหายใจ คอบวมหายใจลำบาก และมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจพิจารณาเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีในระบบทางเดินหายใจ เช่น Cephalosporin

 

 

ระยะที่ 4 แผลเริ่มหาย

 

1.ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่และยาป้องกันแมลงวันตอมวางไข่ที่บริเวณแผล เช่น การใช้ Gentian violet ร่วมกับยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวันหรือยาสมุนไพรทากีบ


2.ให้วิตามิน AD3E และในกรณีแม่พันธุ์ที่ใกล้หายแล้วให้แร่ธาตุซิลิเนียม เพื่อช่วยเสริมสุขภาพของระบบสืบพันธุ์และการทำงานของเม็ดเลือดขาว

 


หมายเหตุ : การรักษาให้พึ่งระวังผลข้างเคียงและฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของยาแต่ละชนิด โดยเฉพาะยากลุ่ม NSAIDs การใช้ติดต่อกันนานๆ จะก่อให้เกิดความระคายเคืองในทางเดินอาหาร และเป็นอันตรายต่อตับและไต รวมทั้งข้อจำกัดการใช้ Tolfenamic acid ในสัตว์อายุน้อยและไม่ควรใช้ในสัตว์ท้อง และให้มีการงดส่งนมหรือบริโภคตามระยะการตกค้างของยาในเอกสารกำกับยา

 

 


วิธีการป้องกัน “โรคลัมปี สกิน”


การกำจัดและป้องกันแมลงในพื้นที่ ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ในการเลี้ยง และกักสัตว์ใหม่ก่อนนำเข้าพื้นที่ โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคจะมีการนำเข้ามาในประเทศที่มีการระบาดของโรคแล้ว

 

 

 

วัคซีนโรคลัมปี สกินถึงไทยแล้ว

 

วันที่ 30 พ.ค.64 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีส่งมอบวัคซีน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน พร้อมด้วย นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถขนส่งวัคซีนลัมปี สกิล และทีมสัตวแพทย์ออกปฏิบัติงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

 

 

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเกษตรกร โดยการพ่นยาฆ่าเชื้อ พ่นสารกำจัดแมลงให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน พร้อมทั้งเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน จำนวน 60,000 โดส และกระจายไปปศุสัตว์จังหวัด พร้อมเวชภัณฑ์ยาและหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือตามความต้องการของเกษตรกรต่อไป

 

 


“สำหรับวัคซีน LSDV ลอตแรกจำนวน 60,000 โดสที่ได้รับในวันนี้ จะนำไปฉีดให้กับโค-กระบือของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นหลักก่อน โดยต้องฉีดรอบจุดเกิดโรคเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคออกจากจุดเกิดโรคให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และดำเนินการโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 300,000 โดส เพื่อให้เพียงพอและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย ที่สำคัญต้องขอฝากเรียนถึงพี่น้องเกษตรกรทุกคนที่กำลังประสบความเดือดร้อนว่า การฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกินให้กับโค-กระบือนี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โค-กระบือทุกตัวในพื้นที่การระบาด จะได้รับการฉีดให้ฟรี ดังนั้นหากพบการเรียกร้องค่าใช้จ่าย จะดำเนินการจัดการด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

 

 

 


ข้อมูลจาก กรมปศุสัตว์ , มติชน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง