รีเซต

ประจวบฯ ประกาศเขตโรคระบาด "ลัมปีสกิน" หลังพบวัวป่วยแล้ว 426 ตัว

ประจวบฯ ประกาศเขตโรคระบาด "ลัมปีสกิน" หลังพบวัวป่วยแล้ว 426 ตัว
TNN ช่อง16
28 พฤษภาคม 2564 ( 12:28 )
244
ประจวบฯ ประกาศเขตโรคระบาด "ลัมปีสกิน" หลังพบวัวป่วยแล้ว 426 ตัว

วันนี้(28 พ.ค.64) นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ระบาดในโค-กระบือ โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เริ่มพบครั้งแรกที่ตำบลสามกระทาย อำเภอกุยบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน ต่อมาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ พบที่ตำบลไรใหม่อำเภอสามร้อยยอด และตำบลเขาน้อยปราณบุรี ขณะนี้พบการระบาดของ เชื้อ “ลัมปีสกิน” ในโคเนื้อและโคนม ใน 6 อำเภอ ประกอบด้วย หัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ และทับสะแก มีโคติดเชื้อแล้ว  426 ตัว ในจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงไว้ทั้งสิ้น 122 ราย โดยอำเภอปราณบุรีเป็นพื้นที่มีสัตว์ป่วยมากที่สุด 198 ตัว รองลงมาได้แก่ สามร้อยยอด จำนวน 118 ตัว ,กุยบุรี 75 ตัว ,หัวหิน 22 ตัว ทับสะแก 12 ตัว และอำเภอเมือง 1 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโคเนื้อ 

ล่าสุด นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ลงนามในประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในโค –กระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคภายในพื้นที่ดังกล่าวเป็นวงกว้างขึ้น เนื่องจากโรคนี้มีแมลงดูดเลือด ได้แก่ ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ และมีแนวโน้มที่จะระบาดไปยังท้องที่จังหวัดอื่นๆเพิ่มขึ้นได้จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด และก่อให้เกิดการสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบืออย่างมาก

โดยกำหนดให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกพื้นที่ ทุกตำบล ทุกอำเภอในเขตพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกินในสัตว์ชนิดโคและกระบือ ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์โคและกระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าว เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายตามที่บัญญัติได้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

ในส่วนของการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน เดือนเมษายนที่มีการพบโรคครั้งแรกได้มีการ ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวไว้แล้ว ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของโรค อีกส่วนหนึ่งคือการควบคุมแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหะนำโรค ได้ประสานไปยังหน่วยงานในท้องถิ่น ทุก อบต. ออกพ่นยาฆ่าแมลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอต่างๆ โดยทาง อบจ.ประจวบคีรีขันธ์จะสนับสนุนน้ำยาฆ่าแมลงให้กับท้องถิ่นที่เกิดโรค เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร 

ส่วนวัคซีนยังมีจำนวนจำกัด อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมปศุสัตว์ แต่อาการของโรคนี้ไม่รุนแรง ก็ต้องติดตามกันอีกที ว่าวัคซีนที่จะเข้ามาล๊อตแรกประมาณปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะจัดสรรอย่างไร แต่สถานการณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถือว่ายังสามารถควบคุมสโรคได้ดี มีการร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทั้งจากปศุสัตว์ สหกรณ์โคนม ท้องถิ่น และเกษตร ออกพ่นยาฆ่าแมลงกันเต็มที่ 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง