รู้จัก ‘พระโคพอ - พระโคเพียง’ จากโคพื้นเมืองขาวลำพูน สู่พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญกำลังใจแก่ราษฎรไทยที่ประกอบอาชีพเกษตร ‘พิธีหว่านไถ’ ถือเป็นหนึ่งในพิธีอันสำคัญ โดยแต่ละปีจะมีการคัดเลือกพระโคที่ได้คุณลักษณะทำหน้าที่ไถนา และเสี่ยงทายสถานการณ์การประกอบอาชีพ ตลอดจนความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ซึ่งในปี 2567 โคพันธ์ขาวลำพูน เป็นสายพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็นพระโคในพระราชพิธีนี้
ทำความรู้จัก ‘โคพันธุ์ขาวลำพูน’ จากโคพื้นเมืองสู่ พระโคในพระราชพิธี
โคพันธุ์ขาวลำพูน เป็นโคพันธุ์พื้นเมืองที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 100 ปี ไม่ทราบถิ่นกำเนิดที่แน่ชัด เชื่อกันว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญไชยพระองค์แรก เมื่อ 1,340 กว่าปีมาแล้ว เป็นสัตว์คู่บารมีของชนชั้นปกครอง ในสมัยนั้นใช้ลากเกวียน
ในตำราของชาวต่างชาติบางเล่มกล่าวว่า ต้นตระกูลของโคพื้นเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะเป็นโคยุโรปที่ไม่มีหนอก ซึ่งต่อมาถูกผสมข้ามโดยโคอินเดียที่มีหนอก เพราะโคในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะของทั้งโคยุโรปและโคอินเดียรวมกัน คือมีเหนียงคอสั้น หน้าผากแบน และหูเล็กแบบโคยุโรป มีหนอกแบบโคอินเดีย
โคพันธุ์ขาวลำพูน เป็นที่รู้จักจากการที่ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มเลี้ยงฝูงโคขาว ตั้งแต่ พ.ศ.2521แทนฝูงโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อหาทางศึกษาชี้นำให้มีการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ โดยปัจจุบัน เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่แล้วแพร่กระจายไปยังจังหวัดลำปาง พะเยา เชียงราย
โคพันธุ์ขาวลำพูน นั้นมีลักษณะมีสีขาวปลอดทั้งตัว รวมไปถึงปาก จมูก ขอบตา กีบ เขา และพู่หาง แต่ไม่ใช่โคเผือกเพราะมีตาดำ ตามคติของศาสนาพราหมณ์ กล่าวว่า ‘โคอุสุภราชเผือก’ ผู้มีนามว่าพระนนทิ ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท พระนนทิจะแปลงรูปเป็นโคให้พระอิศวรทรง ซึ่งความเชื่อนี้คนอินเดียจึงไม่ทานเนื้อโค จึงมีโคเยอะมากในประเทศอินเดีย โดยประเทศไทยเรารับความเชื่อของพราหมณ์มา ดังนั้นในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรี ได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้เข้าร่วมในพระราชพิธีนี้
รู้จัก ‘พระโคพอ - พระโคเพียง’ โคที่ถูกคัดเลือกใช้ใน ‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ประจำปี 2567
ในปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2 คู่ เป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ คือ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี
พระโคสำรอง 1 คู่ คือ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นพระโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า
สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธี ฯ นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร
โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้ายเขาลักษณะ โค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
สำหรับพระโค นายสมชาย ดำทะมิส ได้บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ และนายอาคม วัฒนากูล บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง มอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2567
ข้อมูลจาก: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภาพจาก: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์