ครม. ไฟเขียว "โคแสนล้าน" นำร่องแสนครัวเรือน เช็กรายละเอียดที่นี่
วันนี้ (18 เม.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (18 เมษายน 2567) มีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กรอบวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5,000 ล้านบาท ในส่วนอัตราดอกเบี้ยและรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมติ กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 โดยรัฐชดเชยต้นทุนทางการเงินให้กับ ธ.ก.ส. ในระยะเวลา 2 ปีอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จำนวน 450 ล้านบาท (ปีละ 225 ล้านบาท) ตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 19 มีนาคม 2567 รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่ 6/2567 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง โดยคณะทำงานฯ ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ภาครัฐต้องรับภาระชดเชย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากการประชุมดังกล่าวมีการปรับรายละเอียดการดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่องสรุปดังนี้
1. ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน (ครัวเรือนละ 50,000 บาท) และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ย 4.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี (ปีละ 225 ล้านบาท รวม 2 ปี 450 ล้านบาท) โดยให้ ธ.ก.ส. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยดอกเบี้ยต่อไป
2. กลุ่มเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี โดยเคยกู้เงิน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่น ๆ แล้วชำระหนี้ได้
3. วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิก ยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง
4. ประเภทสินเชื่อและระยะเวลา เป็นสินเชื่อระยะยาว ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี โดยให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในฐานะนิติบุคคลตามแนวทางที่กำหนด โดยให้สมาชิกกองทุนฯ ยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับกองทุนหมู่บ้านฯ จากนั้นกองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกกองทุนฯ ตามระเบียบ ข้อบังคับของกองทุนหมู่บ้านฯ และยื่นขอสินเชื่อโครงการฯ กับ ธ.ก.ส. ในนามกองทุนหมู่บ้านฯ
5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว
6. การติดตามประเมินผล กทบ. สทบ. ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส โดยให้ ธ.ก.ส. รายงานข้อมูลกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณและผลการอนุมัติงบประมาณของ ธ.ก.ส.
ที่มา รัฐบาล