รีเซต

ครม.ไฟเขียว "พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน" ดันไทยสู่ Financial Hub ภูมิภาค

ครม.ไฟเขียว "พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน" ดันไทยสู่ Financial Hub ภูมิภาค
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2568 ( 13:49 )
8

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ โดยร่าง พ.ร.บ. "Financial Hub" นี้ จะถูกบรรจุวาระและเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 ทันที


ทั้งนี้ พ.ร.บ. Financial Hub นี้ จะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ยกเครื่องการพิจารณาใบอนุญาต และการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ให้มีความครบวงจร และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ดึงดูดการลงทุน รวมทั้งให้มีหน่วยงานหลักกำหนดนโยบายในการส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และกำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน (Ecosystem) ทั้งการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก


โดยกำหนดรายละเอียดธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินให้เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Authority: OSA) กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ และกลไกการขออนุญาต กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน รวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักสากล

โดยในร่าง พ.ร.บ. Financial Hub ดังกล่าว ประกอบด้วย 9 หมวด รวม 94 มาตรา ดังนี้


บททั่วไป ซึ่งเป็นการกำหนดวันที่บังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. และนิยามที่เกี่ยวข้อง


หมวด 1 

: คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ซึ่งเป็นการกำหนดองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้กำกับดูแลกิจการ ภายใต้โครงการ Financial Hub อย่างครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจ การให้ใบอนุญาต การตรวจสอบการดำเนินงาน และการเพิกถอนใบอนุญาต


หมวด 2 

: สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ซึ่งเป็นการตั้งสำนักงานเพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Authority: OSA) และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งการพิจารณาใบอนุญาตและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ


หมวด 3 

: ผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติ และวิธีการแต่งตั้งผู้บริหารจัดการสำนักงาน


หมวด 4 

: การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย ซึ่งเป็นการกำหนดประเภท และขอบเขตของธุรกิจที่จะได้รับอนุญาต และการกำหนดคุณลักษณะของนิติบุคคล ที่ประสงค์จะยื่นคำขอประกอบธุรกิจ


หมวด 5 

: การส่งเสริมสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับ หากมาจัดตั้งธุรกิจภายใต้ Financial Hub


หมวด 6 

: การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจภายใต้การส่งเสริม ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจ ภายใต้ Financial Hub ซึ่งได้พิจารณาให้ครอบคลุมแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจด้านการเงินในปัจจุบัน ทั้งธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย


หมวด 7

: พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน สามารถตรวจสอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจได้


หมวด 8 และ 9 

: มาตรการปรับเป็นพินัย และโทษทางอาญา ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขที่กำหนด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง