รีเซต

ฝ่าวิกฤต'ลัมปีสกิน' : รู้จักสายพันธุ์กระบือตัวพ่อ ค่าตัวหลักล้าน เลี้ยงควายก็รวยได้

ฝ่าวิกฤต'ลัมปีสกิน' : รู้จักสายพันธุ์กระบือตัวพ่อ ค่าตัวหลักล้าน เลี้ยงควายก็รวยได้
Ingonn
7 มิถุนายน 2564 ( 23:20 )
4K

ข่าววันนี้ที่กำลังเกิดการระบาดของโรคลัมปี สกิน สร้างผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกลุ่มปศุสัตว์เพาะเลี้ยงโค กระบือ เป็นวงกว้างทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการควบคุมโรคและรอการเข้ามาของวัคซีนโรคลัมปีสกินเพื่อนำมาฉีดให้กับโค กระบือ นอกจากนี้ กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกระบือสายพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ขายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไทยได้อย่างดี การเลี้ยงดูที่ดีส่งผลให้กระบือมีความสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถนำไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพาะขายหรือส่งเข้าประกวดได้ เรียกได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้มากมายเลยทีเดียว

 

 

แต่รู้หรือไม่ว่ากระบือที่เราเห็นทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียว แต่มีหลากหลายสายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับถิ่นที่อาศัยอยู่ โดยวันนี้ TrueID จะพามาดูกระบือไทย ว่ามีสายพันธุ์อะไรที่น่าจับตามองบ้าง พร้อมเปิดชื่อกระบือประกวดพันธุ์งามที่ค่าตัวเหยียบหลักล้านมาฝากกัน

 

รู้จักประเภทกระบือทั่วไป

 

กระบือแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

 

1. กระบือเอเชีย (Asiatic Water Buffalo-Bubalus bubalis)


2. กระบือแอฟริกา (Africa buffalo-Syncerus Caffer)


3. กระบือแคระ (Anoas-Anoa)

 

 

กระบือเอเชีย (Asiatic Water Buffalo-Bubalus bubalis)


เป็นกระบือที่พบในไทย สามารถแยกได้เป็น 2 ชนิด คือ กระบือปลัก (Swamp buffalo) และกระบือแม่น้ำ (River buffalo) กระบือทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์ตระกูลและสายพันธุ์เดียวกัน กระบือไทยเป็นประเภทกระบือปลัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  คือ Bubalus Bubalis

 

 

จากการศึกษาทางด้านชีวโมเลกุล พบว่า กระบือปลักมีจำนวนโครโมโซม 24 คู่ ส่วนกระบือแม่น้ำจะมีจำนวนโครโมโซม 25 คู่ และสามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่างกันได้  กระบือปลักมีการเลี้ยงกันมากในประเทศจีนตอนใต้ ประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ และออสเตรเลีย และในประเทศไทย เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานและใช้เนื้อเป็นอาหาร

 

 

กระบือปลัก (Swamp buffalo) กระบือปลักเป็นสัตว์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่างๆ  ทางตะวันออกไกล ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า จีนตอนใต้ กัมพูชา และลาว เป็นต้น ในสมัยก่อนเกษตรกรจะเลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานในไร่นา ใช้บรรทุกสิ่งของและลากจูง เมื่อกระบืออายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร สำหรับประเทศไทย กระบือพื้นเมืองจะเป็นกระบือปลัก อาจจะเป็นเพราะว่าลักษณะทั่วไปของกระบือชนิดนี้จะชอบนอนแช่ปลัก ชอบลงน้ำเมื่อมีอากาศร้อน มีรูปร่างล่ำสัน ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบนโค้งไปข้างหน้า หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง คอยาว และบริเวณใต้คอจะมีบั้งคอซึ่งมีขนขาวเป็นรูปตัววี (Chevron) หัวไหล่และอกนูนเต็มได้ชัดเจน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ ที่เป็นสีขาวเผือกก็มีอยู่บ้างเห็นได้ทั่วไป

 

 

กระบือแม่น้ำ (River buffalo) กระบือแม่น้ำ พบมากในประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออก เป็นกระบือที่ให้นมมากและมีลักษณะเป็นกระบือนม เลี้ยงไว้เพื่อรีดนม กระบือประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่รูปร่างแข็งแรง ลักษณะทั่วไปมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้นและบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก 

 


โดยจะแบ่งสายพันธุ์ควายแม่น้ำได้ ดังนี้


1.กลุ่มตระกูลมูร่าห์ ได้แก่ Murrah (มูร่าห์) ,  Nili- Ravi (นีลี-ราวี) , Kandi ( กุนดี)


2.กลุ่มตระกูลกูจารัต (Gujarat) ได้แก่ Surti (เซอร์ทิ หรือ เซอร์ติ) , Mehasani (เมซานี่) , Jafarabidi (จัฟฟาราบัด หรือ ยาฟฟาราบาดี)


3.กลุ่มพันธุ์ในเขตตอนกลางของอินเดีย ได้แก่ Nagpuri ( นัจปูรี) , Pandharpuri (พันธะปูรี) , Manda, Jerangi, Kalahandi, Sambalpur


4.กลุ่มพันธุ์ Uttar Pradesh ได้แก่ Bhadawari, Tarai


5.กลุ่มพันธุ์แถบอินเดียใต้ ได้แก่ Toda (โทดา) , South Kanara

 

 

สายพันธุ์กระบือไทยที่ควรรู้

 


กระบือพันธุ์มูร่าห์

 

เป็นที่นิยมเลี้ยงอย่างมากในแถบทวีปยุโรป เช่น อิตาลี บัลแกเรีย และทางอเมริกาใต้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ให้น้ำนมดีและมีคุณภาพสูงสุดในบรรดากระบือแม่น้ำ (Riverine Buffalo) ทั้งหมด มีลักษณะทางกายภาพลำตัวเป็นสีดำ หน้าผากนูน เขาสั้นและม้วนงอ เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะมีน้ำหนักโดยประมาณ 550 กิโลกรัม ตัวเมียจะมีน้ำหนักโดยประมาณ 450 กิโลกรัม เมื่อแรกเกิดน้ำหนักของลูกมูร่าห์จะมีน้ำหนักประมาณ 30-35 กิโลกรัม ควายพันธุ์ มูร่าห์จะโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มที่เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี และจะถึงวัยเจริญพันธุ์ครั้งแรกเมื่อแม่พันธุ์มีอายุประมาณ3 ปีครึ่ง ถึง 4 ปี แม่พันธุ์มูร่าห์ 1 ตัว สามารถผลิตน้ำนม ได้ประมาณ 5-10 ลิตร ต่อ 1 วัน ซึ่งน้อยกว่านมวัว ถึง 4 เท่าและให้นมได้นานถึง 8 - 10 เดือน  

 

 


กระบือพันธุ์นีลี-ราวี


กระบือพันธุ์ นีลี (Nili) มีความสำคัญ เกี่ยวกับการผลิตน้ำนมของประเทศปากีสถาน อยู่ตามฝั่งแม่น้ำซัทเลจ (Sutley) มีชื่อว่า “นีลี” เพราะน้ำในแม่น้ำมีสีฟ้า ซึ่งภาษาปากีสถาน นีลี แปลว่า สีฟ้า จึงเรียก กระบือพันธุ์นี้ว่านีลี ลักษณะมีขนาดปานกลาง ลำตัวลึก หัวยาว เขายาวและโค้ง คอยาว สะดือเล็ก เต้านมหัวนมและเส้นเลือดที่เต้านม หาง ใหญ่และยาวจนถึงพื้นดิน สีน้ำตาลถึงดำ และ มีสี ขาวที่หน้าผาก หน้า ปลาย จมูก และขา 

 

กระบือพันธุ์ราวี (Ravi) มีถิ่นเดิมอยู่ตามริมฝั่งของแม่น้ำราวีที่ซามาลและแกงกีบาร์ เป็นควายพันธุ์นมอีกพันธุ์ที่มีผู้นิยมในปากีสถานเพราะมีไขมันเนยสูงและเลี้ยงง่าย 

 

เนื่องจากกระบือพันธุ์ราวีและนีลีมีลักษณะใกล้เคียงกันมากและผลผลิตก็ใกล้เคียงกันมักจะรวมเรียกว่าพันธุ์นีลี-ราวี (Nili-Rayi Breed) อย่างไรก็ตามควายสองพันธุ์นี้มีลักษณะต่างกันคือควายพันธุ์ราวีมีลักษณะไม่สวยงาม (refine) เหมือนนีลีและมีโครงร่างแข็งแรง (massive frame) กว่า รูปร่างเทอะทะกว่า 

 

 

กระบือพันธุ์กุนดี


เป็นกระบือในสายตระกูลมูร่าห์ (Murrah Group) มีถิ่นเดิมอยู่ที่ซินด์ (Sind) ในปากีสถานเขามีลักษณะบิดเป็นเกลียว (spirally twisted) และเล็ก  ให้ไขมันเนยสูง มีขาสั้นและแข็งแรง สีดำไม่มีสีขาวหรือสีอื่น

 


กระบือพันธุ์เซอร์ตี หรือ เซอร์ทิ


กระบือในสายตระกูลกูจารัต (Gujarat) พบในบอมเบย์ ระหว่างแม่น้ำมาฮี (Mahi) และแม่น้ำซาบามาตี (Sabarnati) ของประเทศอินเดีย ให้น้ำนมดีและไขมันสูงกว่าพันธุ์มูร่าห์ เป็นควายนมที่สำคัญพันธุ์หนึ่งของรัฐกูจารัต (Gujarat) มีลักษณะรูปร่างล่ำ ตานูนโปนเล็กน้อย  เขายาวปานกลางและโค้งเป็นรูปเคียว (sickle) มีสีดำหรือน้ำตาลแก่บางทีก็มีสีเทาปนบ้างแนวหลังตรงกว่ากระบือแม่น้ำพันธุ์อื่นๆ

 

 

กระบือพันธุ์เมซานี


กรมปศุสัตว์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เลี้ยงดูกระบือนมพันธุ์เมซานี (Mehsani) ที่รัฐบาลอินเดียน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2542 จำนวน 50 ตัว ซึ่งได้นําไปเลี้ยงขยายพันธุ์และศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ที่หน่วยบํารุงพันธุ์สัตว์พบพระ ศูนย์วิจัยและบํารุงพันธุ์สัตว์ตาก จังหวัดตาก ต่อมาย้ายไปเลี้ยงดูที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์ ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง

 

ลักษณะประจำพันธุ์กระบือเมซานี ลำตัวมีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม อาจมีสีขาวบริเวณหน้าผากและปลายพู่หาง เขาม้วนงอ ลำตัวหนาลึก เป็นกระบือนมขนาดกลาง เต้านมมีขนาดใหญ่ ได้สัดส่วน ให้นมดี และมีความสมบูรณ์พันธุ์ดี น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ 550-600 กก. เพศเมีย 400-450 กก.ปริมาณการใหนมเฉลี่ย 7-8 ลิตร/วัน มีไขมัน 7-8 % โปรตีนรวมแร่ธาตุต่างๆ ประมาณ 9 % ระยะเวลาการให้นมประมาณ 300 วัน

 

 

กระบือพันธุ์จัฟฟาราบาดิ หรือ ยาฟฟาราบาดี 


กระบือพันธุ์สุดท้ายของของตระกูลกูจารัต อยู่ทางภาคตะวันออกของอินเดียโดยเฉพาะที่ป่าเกอร์ (Gir forest) เริ่มแรกได้ทำการผสมพันธุ์โดยพวกรายา (Rajas) เพื่อเอาไว้ชน ดังนั้นจึงได้ทำการผสมพันธุ์ให้กระดูกหน้าผาก มีขนาดใหญ่ หนา แข็งแรง เพื่อประโยชน์ในการชนกันได้แรงๆ เป็นกระบือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดีย  ลักษณะมีโครงร่างใหญ่ แข็งแรงกระดูกใหญ่ หลังกว้าง  สีดำและอาจจะมีสีขาวที่หน้าและขา หัวมีกระดูกหน้าผากนูนใหญ่มีเขากว้างมากและแบนเขาโค้งลงต่อจากกระดูกหน้าผาก ปลายเขาโค้งขึ้น เข้าด้านใน เขายาวปานกลาง หูเล็กและชี้หน้าอกกว้างลึกและมีเส้นรอบอกกว้าง ตะโหนกแคบ หลังและบั้นเอวกว้าง ส่วนหน้าและส่วนหลังเป็นรูปสี่เหลี่ยม กระบือนี้มีขนาดใหญ่และสามารถกินอาหารหยาบ (roughage) ที่มีเซลลูโลสสูงได้ดีมากให้น้ำนมและมีไขมันนมสูง แต่ระยะรีดนมสั้น  ควายตัวเมียพันธุ์นี้มักมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย

 


กระบือพันธุ์นัจปูรี หรือ พันธะปูรี


กระบือพันธุ์นี้พบแถวเมืองนัจเปอร์ (Nagper) ทางภาคกลางของอินเดียและพบในป่า   มีหัวค่อนข้างแคบแต่ยาว โคนเขาไม่กว้างและยาวเรียว กีบแข็งแรงเป็นพิเศษเนื่องจากต้องปรับตัวให้สามารถเดินในหินแข็ง ๆ และขรุขระได้ตามถิ่นที่มันอยู่ ให้นมน้อยกว่ากระบือพันธุ์อื่น แต่มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องการน้ำสำหรับอาบแบบพันธุ์อื่น ชอบอยู่เป็นฝูง มีหลายลักษณะสีแตกต่างกันตามที่ผู้ผสมพันธุ์ต้องการ 

 

 

กระบือพันธุ์โทดา


กระบือพันธุ์โทดา (Toda) ชาวโทคาที่อยู่บนเขานิลกรีของมัคราส (Madras) เป็นผู้เลี้ยงรักษาพันธุ์ไว้ลักษณะโครงสร้างใหญ่ ตัวยาว หัวใหญ่  แข็งแรงตะโหนกเรียบ  มีขนขึ้นหนาที่สันคอ ตะโหนก   และหลัง มีหน้าผากที่กว้าง เขายาวเป็นรูปวงพระจันทร์ ชาวโทคาใช้ควายพันธุ์นี้ในงานพิธีต่างๆ เช่นพิธีฉลองวันเกิดพิธีแต่งงานและพิธีศพ  แต่จะไม่ใช้ควายพันธุ์นี้ทำงานหรือฆ่าเพื่อกินเนื้อ

 

 

 

กระบือลูกผสม 



กระบือลูกผสมเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างกระบือปลักและกระบือแม่นํ้า ลูกผสมที่ได้มีลักษณะของทั้งสองพันธุ์ผสมกัน คือ เขาไม่ม้วนขดมากเหมือนพันธุ์แท้ แต่โค้งออกข้างและชี้ขึ้นบน หรือบิดเล็กน้อย ผิวหนังมีจุดสีดำ (dark pigmentation) หัวมีลักษณะไปทางกระบือแม่นํ้า แต่หน้าผากไม่นูนเด่นมาก เต้านมเจริญดีกว่ากระบือปลัก ใช้งานได้ดีเช่นเดียวกับกระบือไทย ตัวผู้หนักประมาณ 730-800 ก.ก. ตัวเมียหนักประมาณ 630-650 ก.ก.

 

 

 

ลักษณะทั่วไปของกระบือไทย


กระบือในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกระบือปลัก ซึ่งโดยทั่วไป แล้วมีลักษณะเหมือนกันหรือแตกต่างกันบ้างในแต่ละพื้นที่ กระบือภาคใต้มีขนาดเล็กกว่ากระบือทางภาคกลางและภาคอีสาน กระบือทางแถบภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง มีรูปร่างค่อนข้างใหญ่จะสูงโปร่งกว่าและกระบือแถบอื่น กระบือปลักที่เลี้ยงกันในบ้านเราทุกวันนี้ ไม่ปรากฏว่าแบ่งเป็นพันธุ์ต่างๆ ที่แน่นอน มีแต่ชื่อเรียกกันไปต่างๆ ตามท้องถิ่นที่มันอยู่ แต่ไม่มีอะไรที่มาแบ่งเขตได้อย่างเด่นชัด


การจัดจำแนกกระบือไทย ตามรูปร่างลักษณะ การเรียกชื่อ และถิ่นที่อยู่ ซึ่งแตกต่างกันออกไป ดังนี้ 

 


1. กระบือทุย อยู่ในแถบจังหวัดลำพูน ลำปาง และอุตรดิตถ์ มีผิวหนังสีดำ ขนหน้าสีดำ หัวยาว ตัวเมียคอยาว และลึก ในตัวเมียจะมีเต้านมใหญ่กว่าชนิดอื่นๆ สูงประมาณ 140 ซม. นํ้าหนักตัวประมาณ 450 กก.

 

2. กระบือแขม อยู่ในแถบจังหวัดลำพูน และลำปาง กระบือแขมที่จังหวัดลำปางจะมีขนาดเล็กกว่าในจังหวัดลำพูน กระบือชนิดนี้มีขนาดเล็ก นํ้าหนักตัวประมาณ 350 กก. มักชอบหากินใบไม้ หนังและขนมีสีเทา หัว คอ และลำตัวสั้นกว่ากระบือทุย สูงประมาณ 130 ซม.

 

3. กระบือจาม อยู่ที่จังหวัดลำปาง มีลักษณะเหมือนกระบือทุย ผิวหนังสีดำ ขนหน้าสีดำ หัวยาว แต่ตัวเล็กกว่ากระบือทุย

 

4. กระบือประ อยู่ที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าเป็นกระบือที่ต้อนมาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีกล้ามเนื้อ ตีนเล็ก นํ้าหนักประมาณ 300-450 กก. และมีลักษณะค่อนข้างเปรียวมาก

 

5. กระบือมะริด เดิมเป็นกระบือพม่า เข้ามายังประเทศไทยทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะเหมือนกระบือทางภาคกลางส่วนใหญ่ แต่มีขนาดเล็ก รูปร่างได้สัดส่วน แข็งแรง ขาตรง สีคลํ้า ขนยาวกว่ากระบือชนิดอื่น ตัวผู้หนักประมาณ 325-350 กก. ตัวเมียหนักประมาณ 300 กก.

 

6. กระบือตู้ (กระบือทู่) อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นกระบือที่มีกระดูกขาใหญ่ เขากาง มีโครงกระดูกใหญ่

 

7. กระบือนํ้าว้า อยู่ที่จังหวัดน่าน มีลักษณะเช่นเดียวกับกระบือทุย แต่มีขนาดใหญ่มาก เกือบ 1 ตัน

 

8. กระบือในภาคกลาง อยู่ในจังหวัดอุทัยธานี คาดว่าอพยพมาจากหลายที่ ทั้งภาคอีสานและกระบือทุยทางภาคเหนือ สูงประมาณ 135-145 ซม. หนักประมาณ 700-750 กก.

 

9. กระบือแกลบ อยู่แถบอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะเหมือนกระบือทางภาคกลางแต่ตัวเล็กกว่า นํ้าหนักประมาณ 300-400 กก.

 

10. กระบือจ้อน อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง คล้ายกระบือแกลบ มีขนาดเล็ก หูเล็ก นํ้าหนักประมาณ 300 กก.

 

 

 

ประโยชน์ของกระบือ

 

1. การใช้เป็นแรงงาน กระบือมีรูปร่างลักษณะเหมาะกับกับการใช้เป็นแรงงานในพื้นที่เป็นโคลนตมได้ดี เพราะขาทั้งสี่ข้างรับน้ำหนักได้ดี มีกีบเท้าใหญ่และแข็งแรงเดินได้ดีในโคลน และมีข้อกีบและข้อขาที่เคลื่อนไหวคล่องตัว ทำให้เดินได้ดีในที่นาขรุขระ กระบือเป็นแรงงานหลักที่สำคัญของชาวนา เช่น ใช้ในการเตรียมดินไถนาและคราด การนวดข้าว ลากเกวียน ไถนา หรือไถวัชพืชระหว่างร่องมันสำปะหลังหรือร่องอ้อยในบางพื้นที่

 

 

2. การใช้มูลและปุ๋ย มูลกระบือมีความสำคัญมากในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากที่นาได้ใช้เป็นปุ๋ยเคมีติดต่อกันหลายปี ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพแข็งแรงเป็นดินดาน แต่ถ้าใส่ปุ๋ยคอกจากมูลกระบือเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน จะทำให้โครงสร้างของดินร่วนซุย เพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช และให้ธาตุอาหารพืชในลักษณะต่อเนื่อง และยังทำให้การเกิดฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในดิน เช่น จุลินทรีย์ ไส้เดือน แมลงต่างๆ จากผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารในมูลกระบือ โดยพบว่า ในมูลกระบือมีธาตุไนโตรเจน 1.39 % ฟอสฟอรัส 0.97% และโปตัสเซียม 0.43 % ของน้ำหนักแห้ง สำหรับปริมาณมูลที่ผลิตได้ต่อตัว กระบือโตเต็มที่จะถ่ายมูลคิดเป็นน้ำหนักแห้งปีละ 2-3 ตัน

 

 

3. การให้เนื้อ เนื้อกระบือถือว่าเป็นเนื้อที่มีคุณภาพต่อผู้บริโภค ด้วยเหตุผลด้านรสชาติที่ดี เป็นเนื้อที่มีปริมาณไขมัน และไตรกลีเซอไรด์น้อยเมื่อเทียบกับเนื้อไก่ เนื้อโค และเนื้อปลา แต่เส้นใยมีลักษณะหยาบกว่าเนื้อโค

 

 

 

เปิดรายชื่อกระบือตัวพ่อ ค่าตัวเหยียบล้าน

 

 

1.เทพมงคล

 

 

 

 

2.เงินแท้

 

 

 

 

3.โซกุล

 

 

 

 

4.พลายแก้ว

 

 

 

 

5.หงส์ขาว

 

 

 

 

6.จ้าวขุนศึก

 

 

 

 

7.ทองใบ

 

 

 

 

8.ไผ่ทอง

 

 

 

 

 

9.แมมมอธ

 

 

 

 

10.เอกมงคล

 

 

 

 

11.โชคมงคล

 

 

 

 

12.จ้าวซูโม่

 

 

 

 

13.จ้าวซัน ควายยักษ์

 

 

 

 

14.จ้าวคูณทวี

 

 

 

 

15.จ้าวขุนศึก

 

 

 

 

 

 

เปิดราคาการเลี้ยงกระบือขาย

 

การซื้อขายสายพันธุ์กระบือที่ชนะประกวดนั้น จะราคาประมาณตัวละ 300,000-500,000 บาท ขณะที่ราคาซื้อขายตามสายพันธุ์ จะเริ่มที่กระบืออายุหย่านมแล้ว จำหน่ายราคาตัวละ 150,000-200,000 บาท แต่ถ้าได้ลูกควายจากแม่ละตัวต่อปี เมื่อเลี้ยงไปจนได้อายุครบ 1 ปี จะสามารถจำหน่ายได้ตัวละไม่ต่ำกว่า 30,000–40,000 บาท ทำให้ปีหนึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงกระบือจะมีรายได้เกือบหลักแสน

 

 

 

นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มกระบือไทยที่ส่งเข้าประกวด ยังมีกระบือไทยที่สวยงามอีกเป็นจำนวนมากที่ค่าตัวสูงถึงหลักล้าน เรียกได้ว่า ควายไทยสวยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ

 

 

 

 


ข้อมูลจาก สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ , ศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ , เพจควายไทย เมืองคนดี Suratthani buffalo , murrahfarm , ลักษณะทั่วไปของควายไทยกับการตัดสินการประกวด , เพจอ้ายพงษ์ ควายห่าว

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง