รีเซต

“ทฤษฎีวันสิ้นโลก” เป็นไปได้จริงหรือไม่? หรือมนุษย์แค่กลัวไปเอง

“ทฤษฎีวันสิ้นโลก”  เป็นไปได้จริงหรือไม่?  หรือมนุษย์แค่กลัวไปเอง
TNN ช่อง16
19 มิถุนายน 2567 ( 17:21 )
28
“ทฤษฎีวันสิ้นโลก”  เป็นไปได้จริงหรือไม่?  หรือมนุษย์แค่กลัวไปเอง

ปัญหาวันสิ้นโลก ที่พูดถึงนี้คือวันที่โลกดับสูญ เป็นเรื่องที่ผู้คนถกเถียงกันมาช้านาน ด้วยความกลัวว่าโลกของเราจะระเบิด พบจุดจบ สิ้นมวลมนุษยชาติ


มีการคิดกันไปต่าง ๆ นานา ทั้งคาดเดาและสร้างทฤษฎีความเป็นไปได้ แต่คำถามที่ตามมา คือ ความกังวลดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นจากอะไร และทฤษฎีที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นสามารถประเมินและคาดการณ์ความเป็นไปได้ (Probability) ได้มากน้อยเพียงไร? และที่สำคัญ ทฤษฎีพวกนี้เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? 


ศาสนาโลกแตก


การคิดเรื่องโลกแตกในช่วงแรก ๆ นั้น มาจากอิทธิพลของ “ศาสนา” เป็นสำคัญ โดยเฉพาะ 3 ศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียวกัน (ตามความเชื่อ) อย่าง คริสต์ อิสลาม และยิว ซึ่งศัพท์ทางวิชาการจะเรียกความเชื่ออย่างฝังใจในเรื่องโลกแตกทางศาสนาว่า “Apocalypticism


ศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่าด้วย “อาร์มาเกดดอน” (Armageddon) หรือการปะทะกันของพระเจ้าและซาตาน สร้างความระส่ำแก่มวลมนุษยชาติ หรือกระทั่ง “วันพิพากษาโลก” (Judgment Day) ที่พระเจ้าคัดเลือกผู้อยู่รอดเพียงจำนวนหนึ่ง มนุษย์ที่เหลือก็ดับสูญไป 


ศาสนาอิสลามมีความเชื่อเรื่อง “ชั่วโมงล้างแค้น” (Hour) ของพระเจ้าที่ทรงปลิดชีพเหล่าผู้ต่อต้านพระองค์ ทำให้สังคมเข้าสู่ยุคอารยะ แต่เมื่อพระผู้เป็นเจ้าสิ้นพระชนม์อีกครั้ง โลกก็เข้าสู่กลียุคถึงกาลปาวสาน


ศาสนายิวมีความเชื่อเรื่อง “วันแห่งพระเจ้า” (Day of the Lord) คล้าย ๆ กับอาร์มาเกดดอน ที่จะมีการต่อสู้กันของ ก็อก (Gog: พระเจ้าและชาวยิว) และ มาก็อก (Magog: ปีศาจและกลุ่มนอกรีต) ซึ่งจะนำมาถึงการล่มสลายของโลก


แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้ง 3 ศาสนานี้ก็เชื่อร่วมกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น “มีจุดจบ” ของตนเอง ไม่ได้แบบชาวพุทธหรือชาวตะวันออก ที่โลกนั้นเป็น “วัฏจักร” เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนไปเรื่อย ๆ


จนเมื่อเข้าสู่ยุคสว่างไสวทางปัญญา (Age of Enlightenment) ภายหลังการค้นพบว่า “โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล” ของนิโคลัส โคเปอร์นิคัส ทำให้อิทธิพลในเรื่องนี้ของศาสนาลดทอนไปมาก และแทนที่ด้วยวิทยาศาตร์กายภาพ (Physical Science) ดาราศาสตร์ (Astrology) และฟิสิกส์ (Physics)


แต่ความเชื่อนั้นก็ยังเปลี่ยนยาก เพราะศาสนามีอยู่คู่กับความรู้สมัยใหม่ ไม่ได้หายไปไหน การเชื่อเรื่องวันสิ้นโลกเลยยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนจากเชื่อโดยไม่มีเงื่อนไข มาเป็นพยายามใช้ “องค์ความรู้ใหม่ ๆ” ที่เกิดขึ้นมาทำการศึกษาและคาดการณ์เรื่องวันสิ้นโลก หรือก็คือ ไม่ได้ใช้ความเชื่อตัดสิน แต่ใช้ “หลักการและทฤษฎี” ในการทำความเข้าใจแทน


ทฤษฎีโลกแตก


ในช่วงที่โลกกำลังเจริญก้าวหน้าด้วยลัทธิพาณิชย์นิยม (Merchanism) และทุนนิยมเสรี (Capitalism) ความเชื่อเรื่องโลกแตกนั้นปรากฏให้เห็นน้อยมาก ๆ เพราะโลกกำลัง “ก้าวไปข้างหน้า” เจริญรุ่งเรือง ผู้คนจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการล่มสลายหรือวันสิ้นโลกมากเท่าไร


แต่เมื่อเข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ประชาชนก็เริ่มที่จะคิดถึงสัญญาณของวันสิ้นโลกขึ้นมาเล็กน้อย โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯ ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่น 


ในฝั่งสหรัฐอเมริกามีแนวคิด “Doomsday Cult” ซึ่งมาจากงานศึกษา Doomsday Cult: A Study of Conversion, Proselytization, and Maintenance of Faith เขียนโดย John Lofland ที่ได้ไปศึกษาการเคลื่อนไหวทางศาสนาคริสต์แบบใหม่ที่ระบาดในสหรัฐฯ ช่วงยุค 60 ที่เรียกว่า “Unification Church” ที่มีการสร้างสาวกขึ้นมาโดยให้เชื่อว่าโลกจะแตกและถึงกาลปาวสานในไม่ช้า จึงต้องหันมาเข้าร่วมลัทธิเพื่อให้เป็นผู้ที่ถูกเลือก


งานศึกษาเสนอว่า ที่ผู้คนเชื่อถือเรื่องแบบนี้ เพราะเรื่องของวันสิ้นโลกนั้น สามารถที่จะ “ยืด” ออกไปได้เรื่อย ๆ สมมติผู้นำบอกว่าโลกจะแตกในวันนี้ แต่วันนี้โลกไม่แตก ก็จะบ่ายเบี่ยงบอกไปว่าอีก 10 ปีจะแตกแน่นอน ผู้คนที่ศรัทธามาก ๆ ก็จะเชื่อตามนั้นแบบไม่มีเงื่อนไข


คำถามที่ตามมาคือ พอเป็นไปได้หรือไม่ที่จะคาดการณ์วันโลกแตกให้มีระยะเวลาที่ชัดเจน?


เรื่องนี้ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ได้เกิดการคิดค้นหลักการดังกล่าวขึ้น โดยเรียกว่า “Doomsday Argument” หรือ DA ซึ่งมีคำอธิบายว่า ประชากรของมนุษย์จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งต้องมาพิจารณาการลดจำนวน ซึ่งจะมีผู้ที่ถูกเลือกและผู้ที่ไม่ถูกเลือก จนในที่สุดประชากรก็จะลดลงเรื่อย ๆ จนตัวเลขเป็นศูนย์ แล้วโลกก็อาจจะอยู่ได้ถึง 9,120 ปีให้หลัง


แต่ DA มีข้อท้วงติงว่า ไม่สมเหตุสมผล เพราะการคาดการณ์นี้อ้างอิงมาจาก “Probability theory” ที่มีสูตรสำเร็จทางคำอธิบายว่า ทุกอย่างจะต้อง “ขึ้นสุดลงสุด” โดยไม่มีที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มและลดแบบสลับฟันปลา และการเพิ่มและลดแบบไม่คงที่


ดังนั้น การคำนวนเรื่องโลกแตก จึงเข้าสู่หลักการทาง “คณิตศาสตร์” แทน


ริชาร์ด ก็อตต์ ที่ 3 (J. Richard Gott III.) บัณฑิตฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินสตัน ได้เขียนงานศึกษา Implications of the Copernican principle for our future prospects ที่เสนอว่า ระยะเวลาของทุกสรรพสิ่งนั้นเป็นเส้นตรงแบบจำกัด (Finite Linear) หมายความว่าจะต้องมีจุดกำเนิดและจุดดับสูญ 


ก็อตต์ แบ่งระยะเวลาออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน และวางหลักการว่า ช่วงที่พีคที่สุดนั้น ตัวเลขอัตราการเกิดจะอยู่ที่ 10,000 ล้านคน ซึ่งใช้ระยะเวลา 760 ปี โดยปัจจุบัน โลกมีอัตราการเกิด 130 ล้านคน นั่นหมายความว่า โลกเรามีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งการลดลงนี้ หมายความว่าจะต้องอยู่ในช่วงครึ่งหลังของส่วนเวลา อย่างน้อยต้องเลย 75% ขึ้นไป



ที่มา: 
Implications of the Copernican principle for our future prospects, https://www.vox.com/the-highlight/2019/6/28/18760585/doomsday-argument-calculation-prediction-j-richard-gott



ก็อตต์จึงคาดการณ์ว่า โลกของเราจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 760 ปี เพราะอัตราการเกิดของประชากรกำลังลดลง และนั่น อาจจะนำไปสุ่จุดจบของวันสิ้นโลกได้


ทฤษฎีนี้ แตกต่างจาก DA เพราะแสดงให้เห็นว่าอัตราการเกิดของประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้นจนต้องมาคัดสรรผู้ที่ควรจะอยู่รอด แต่กลับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติมาตั้งนานแล้ว ดังนั้น เพียงแต่ปล่อยไว้เฉย ๆ โลกเราก็อาจจะถึงคราวอวสานได้


แต่ทฤษฎีนี้ถูกโต้กลับโดย สตีเวน กู๊ดแมน (Steven Goodman) ที่เสนอว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่าจุดที่เราอยู่นั้นเป็นจุดเสื่อมถอย บางทีตอนนี้อาจจะเป็นจุดที่กำลังขึ้นหรือคงที่ก็ได้ เช่นประชากรที่เพิ่มขึ้นน้อย แต่ก็เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพราะประชากรทั้งโลกมีมากกว่าสมัยก่อนที่แทบจะไม่มีประชากรเลย ดังนั้น เราจะคำนวนว่าโลกแตกในอีกกี่ปีได้อย่างไร


โลกแตกจริงหรือไม่?


ถึงตรงนี้ ด้วยทฤษฎีและข้อโต้แย้งมากมาย ทำให้เกิดคำถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่โลกจะแตกจริง ๆ ในอนาคตที่ไกลแสนไกลออกไป


หนังสือ The Doomsday Calculation: How an Equation that Predicts the Future Is Transforming Everything We Know About Life and the Universe เขียนโดย วิลเลียม พาวน์สโตน (William Poundstone) ชี้ชัดว่า จริง ๆ แล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือก็คือ ทฤษฎีวันสิ้นโลกก็เป็นเพียง “ความสนุก ณ ปัจจุบัน” ที่พยายามจะคิดเรื่องของอนาคต


พาวน์สโตน กล่าวเสียดสีในเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของเขา ความว่า


“ลองคิดถึงความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ การก่อการร้ายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉับพลัน หรือการที่ AI ครอบครองโลก โลกอยู่รอดได้ถึง 760 ปีก็ถือว่าโชคดีแล้ว”


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง