รีเซต

เตือน "วันสิ้นโลก" อิทธิฤทธิ์พายุสุริยะ

เตือน "วันสิ้นโลก" อิทธิฤทธิ์พายุสุริยะ
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2566 ( 18:48 )
206
เตือน "วันสิ้นโลก" อิทธิฤทธิ์พายุสุริยะ

พายุสุริยะ คือ ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการที่ผิวดวงอาทิตย์ระเบิดขึ้นมา ทำให้อนุภาคประจุไฟฟ้าพุ่งออกมาจำนวนมหาศาล ประจุไฟฟ้าที่พุ่งออกมานี้จะรบกวนระบบการสื่อสาร ส่งผลทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมเป็นอัมพาต เช่น ทำให้เครื่องบินไม่สามารถติดต่อกับหอบังคับการได้ โทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้ รวมไปถึงดาวเทียมเสียหาย การทำนายความรุนแรงของพายุสุริยะ สามารถทำได้โดยตรวจสอบจุดมืดดวงอาทิตย์ เนื่องจากจุดมืดเกิดจากความแปรปรวนของสนามแม่เหล็ก เมื่อมีจุดมืดมากขึ้นก็จะส่งผลให้อนุภาคกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น


คีธ สตรอง นักฟิสิกส์พลังงานแสงอาทิตย์ และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสภาพอากาศอวกาศที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า จำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสูงถึง 163 จุด และสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002 โดยอาจส่งผลให้เกิดพายุสุริยะรุนแรงกระทบมาถึงโลก ซึ่งพายุสุริยะกำลังเป็นที่พูดถึง และถูกจับตามองจากทั่วโลก รวมไปถึงองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NASA และผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าในปี 2025 มีโอกาสที่จะทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มทั่วโลก และหากเกิดขึ้นจริงอาจทำให้อินเทอร์เน็ตล่มยาวนานนับเดือน


เมื่อมาดูพายุสุริยะจำแนกออกเป็น ลมสุริยะ เกิดจากการขยายตัวของโคโรนาของดวงอาทิตย์ที่มีพลังงานความร้อนที่สูงขึ้น เมื่อขยายตัวจนอนุภาคหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ ครอบคลุมระบบสุริยะ มักเกิดขึ้นบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 450 กิโลเมตรต่อวินาที หลังจากนั้นจะเร่งความเร็วจนถึงราว 800 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งแสงอาทิตย์เดินทางถึงโลกในเวลา 8 นาที แต่ลมสุริยะจะใช้เวลา 4 วัน



เปลวสุริยะ เกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ชั้นโครโมสเฟียร์ มักเกิดขึ้นเหนือรอยต่อระหว่างขั้วของสนามแม่เหล็ก ปล่อยพลังงานในรูปของแสงและคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าแบบต่างๆ ออกมาอย่างรุนแรง และการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา หรือ CME 


รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วลมสุริยะ คือ กระแสของรังสีคอสมิกที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ เป็นประจำอยู่แล้ว จะมีวงรอบของความรุนแรง เพิ่มขึ้นทุก 11 ปี ซึ่งก็จะมาครบในปี 2025 นี้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อดาวเทียม อยู่ในชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงระบบสายส่งไฟฟ้า ระบบติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ อินเทอร์เน็ต อันเกิดจากผลกระทบของลมสุริยะรุนแรง แม้จะยังมีความเสี่ยงประมาณร้อยละ 10 แต่ประเด็นสำคัญ คือ ควรหาแนวทางหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากระบบอินเทอร์เน็ต และระบบไฟฟ้าอื่นๆ  


ขณะที่แนวทางรับมือของนาซา เมื่อปี 2565 นาซาได้ส่งจรวดปล่อยยาน Parker Solar Probe ที่จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการป้องกันไม่เกิดหายนะอินเทอร์เน็ตอย่างที่กังวลกัน ซึ่งยานมุ่งหน้าไปยังดวงอาทิตย์เข้าใกล้พื้นผิวของดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสามารถเข้าไปถึงโคโรนา ที่อยู่ในบรรยากาศชั้นบนของดวงอาทิตย์ และมีกระแสลมสุริยะเกิดขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในสภาพร้อนจัดรุนแรงแต่ยานได้เก็บข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ และทำให้ได้ความรู้ใหม่ว่าทำไมอนุภาคของลมสุริยะถึงได้พุ่งเร็วระดับซุปเปอร์โซนิก หรือเร็วกว่าเสียง และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพภูมิอวกาศได้ พร้อมทั้งจำลองทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ เป็นการรวมกันระหว่างปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลดาวเทียมส่งสัญญาณเตือนภัยให้รู้ถึงสภาพภูมิอวกาศที่เลวร้ายได้ คล้ายกับไซเรนแจ้งเตือนพายุ ซึ่งทำนายได้ว่าพายุสุริยะจะโจมตีโลกที่บริเวณใด ในเวลาเตือนภัยล่วงหน้า 30 นาที 

 สอดคล้องทีมวิจัยนานาชาติ จากห้องปฏิบัติการ the Frontier Development Lab ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล อย่าง นาซา, สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา และกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ร่วมกันใช้ เอไอ ในการหาความเชื่อมโยงระหว่างลมสุริยะ กับ การรบกวนสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งด้วยวิธี “deep learning” ของเอไอ จะทำให้นักวิจัยสามารถฝึกเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้ถึงรูปแบบความเชื่อมโยงได้ จากเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ ที่เคยเกิดขึ้น และนาซา หวังว่าวันหนึ่งจะสามารถแจ้งเตือนภัยพายุสุริยะให้กับระบบไฟฟ้าและระบบดาวเทียมทั่วโลก ได้อย่างทันท่วงที



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง