จิสด้า เตือนพายุสุริยะ อาจกระทบระบบ GPS

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า GISTDA ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตามปรากฏการณ์ "พายุสุริยะ" และจากการปะทุบนดวงอาทิตย์เมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้มีการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา หรือ CME ขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดพายุแม่เหล็กโลกระดับปานกลาง หรือ G2 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ละติจูดสูง เช่น อเมริกาเหนือ และยุโรปตอนเหนือ รวมทั้งอาจจะมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า การสื่อสาร และการแพร่กระจายของคลื่นวิทยุระยะสั้น หรือ HF ในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณละติจูดต่ำ ทำให้ผลกระทบจากพายุแม่เหล็กระดับ G2 มักไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบโดยตรง แต่อาจเกิดผลทางอ้อมซึ่งมีโอกาสเกิดได้น้อย เช่น ความคลาดเคลื่อนของระบบนำทางด้วย GPS หรือสัญญาณ HF บางประเภท
สำหรับปรากฎการณ์พายุสุริยะในครั้งนี้เกิดจากการปะทุของจุดมืด AR4087 ร่วมกับลมสุริยะความเร็วสูงจาก หลุมโคโรนา (Coronal Hole) หมายเลข 48 หรือ CH48 ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฏอยู่บนดวงอาทิตย์ และอาจส่งผลต่อสนามแม่เหล็กโลกต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์หน้า แต่คาดว่าผลกระทบจะยังอยู่ในระดับไม่รุนแรง// ที่ผ่านมา พบสนามแม่เหล็กระดับรุนแรง หรือ G4 เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน มกราคม และ เมษายน 2568 แต่ไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง
ด้านพยากรณ์จากศูนย์อากาศอวกาศ NOAA เปิดเผยว่า เปลวสุริยะ X2.7 ที่พุ่งออกมาในขณะนั้นตรงกับตำแหน่งของตะวันออกกลาง ส่งผลให้สัญญาณสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุระยะสั้น ในพื้นที่ขัดข้องนานประมาณ 10 นาที ทำให้ขณะนี้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาปรากฏการณ์พายุสุริยะดังกล่าว ซึ่งได้ทำให้เกิดการปะทุของเส้นใยสุริยะขนาดมหึมา พุ่งออกจากผิวดวงอาทิตย์มีลักษณะคล้ายกับ “ปีกนกไฟ” (Angel-wing eruption) ความยาวกว่า 1 ล้านกิโลเมตร หรือกว่า 2 เท่าของระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ และยังพบว่า เส้นใยสุริยะ ที่แผ่กระจายออกจากขั้วเหนือของดวงอาทิตย์ มีบางส่วนพุ่งมาทางโลก คาดว่าบางส่วนของการปะทุอาจเฉี่ยวโลกใน (17 พ.ค.) โดยอาจทำให้เกิด พายุแม่เหล็กระดับไม่รุนแรง และประชาชนจะมีโอกาสได้เห็นแสงเหนือในบางพื้นที่ของโลก