รีเซต

สัญญาณวันสิ้นโลก ? เมื่อ “โลกร้อน” ทวีภัยพิบัติรุนแรง จนมนุษยชาติเริ่มอยู่ยากขึ้น

สัญญาณวันสิ้นโลก ? เมื่อ “โลกร้อน” ทวีภัยพิบัติรุนแรง จนมนุษยชาติเริ่มอยู่ยากขึ้น
TNN ช่อง16
16 กรกฎาคม 2568 ( 17:08 )
11

หลายวันที่ผ่านมา เราคงได้เห็นข่าวภัยพิบัติจากทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จนเสมือนว่าภัยพิบัติกำลังกลายเป็นเรื่องปกติ ที่เราต้องเจออยู่ทุกวัน 


แต่รู้ไหมว่า ภัยพิบัติที่รุนแรง และถี่ขึ้น คุกคามต่อทรัพย์สิน และชีวิตมนุษยชาติมากขึ้น อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 


จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “หรือว่าโลกเราจะสูญสิ้น เพราะโลกร้อน”


โลกเผชิญสภาพอากาศสุดขั้ว


Copernicus Climate Change Service ระบุว่า เดือนมกราคม 2025 อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงสุด 1.75 องศาเซลเซียส สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม  โดยในช่วง 19 เดือนที่ผ่านมา มี 18 เดือน ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่โลกร่วมกันกำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) 


รายงาน Climate Risk Index  หรือ CRI ฉบับปี 2025 เผยว่า ตั้งแต่ปี 1993-2022 มีประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตมากกว่า 765,000 ราย จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นมากกว่า 9,400 ครั้ง สร้างความเสียหายเกือบ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 


ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO คาดการณ์ไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2030-2050 จะมีผู้เสียชีวิตราว 2.5 แสนคนต่อปี จากการได้รับผลกระทบที่เกิดจาก Climate Change และจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขมากถึง 2-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2030 

“โลกร้อน” ทำคนซื้อของแพงขึ้น


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้กระทบต่อชีวิตเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกด้วย จนทำให้เราอาจจะต้องซื้อของแพงมากขึ้น


แม้บางประเทศอาจไม่เจอผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรง แต่ก็อาจได้รับผลกระทบโดยอ้อมเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น 

  1. ราคาอาหารแพงขึ้น เพราะเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น กระทบต่อการเติบโตของพืชพรรณ หรือ แหล่งอาหารต่าง ๆ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น โดยภายในปี 2035 คาดว่า โลกร้อนอาจทำให้ราคาอาหารและสินค้าเพิ่มขึ้น 0.5-1.2% ทุกปี

  2. ค่าใช้จ่ายจากการใช้เครื่องปรับอากาศจะมากขึ้น ในประเทศกลุ่มร้อน จะมีการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น บางครอบครัวอาจเปิดทั้งวัน ทั้งคืน อันเป็นผลจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ค่าไฟสูงขึ้นตาม ขณะที่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศอากาศหนาว อย่างโซนยุโรป หรือ อเมริกา มีความต้องการเครื่องปรับอากาศมากขึ้น บางครอบครัวต้องควักเงินซื้อ เพื่อรับมือกับคลื่นความร้อนที่ปกคลุมทั่วภูมิภาค 

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ผ่านวารสาร Nature ชี้ว่า Climate Change อาจทำให้รายได้ต่อหัวทั่วโลกลดลงถึง 19% ภายในปี 2049 ซึ่งหมายความว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะสูงถึง 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปีดังกล่าว 


โดยกลุ่มประเทศยากจน ที่ตั้งอยู่ในเขตโซนร้อน จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักสุด แม้ว่าพวกเขาจะเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดก็ตาม


นอกจากนี้ โลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเราในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการนอนไม่หลับ เพราะอากาศร้อน อาจทำให้เรานอนไม่สบาย นอนไม่ได้คุณภาพ 


อากาศไม่สะอาด เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจทำให้มนุษย์ใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น หรือ ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น และก่อให้เกิดมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น


การเดินทางล่าช้าขึ้น ด้วยสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อย ส่งผลกระทบต่อระบบการเดินทาง เพราะหลายครั้งที่เครื่องบิน หรือ รถไฟ ต้องเลื่อนเวลาเดินทางออกไป เนื่องจากสภาพอากาศแย่ ทำให้ไปถึงปลายทางล่าช้ากว่าเวลาปกติ หรือเราต้องเจอรถติดมากขึ้น เพราะเผชิญกับน้ำท่วมระหว่างเดินทาง 

สายเกินแก้หรือยัง ?


คำถามสำคัญต่อมาคือ เมื่อเรารู้แล้วว่า โลกร้อนกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์มากขนาดไหน หากเราต้องการจะแก้ไข มันสายเกินไปแล้วหรือยัง ?


ณ ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่า โลกของเรา ถึง "จุดพลิกผัน" หรือ “Tipping Points” ซึ่งเป็นจุดที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่อาจย้อนกลับได้ 


การศึกษาล่าสุดระบุว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โลกอาจเผชิญจุดพลิกผันหลายจุด เช่น การพังทลายของครอบน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตก การละลายของชั้นดินเยือกแข็งถาวร การตายของแนวปะการังในน้ำอุ่น และการล่มสลายของการไหลเวียนของกระแสมหาสมุทรในแอตแลนติกเหนือ หากถึงจุดเหล่านี้ ผลกระทบจะเกิดขึ้นแบบโดมิโนและนำไปสู่หายนะที่ร้ายแรงต่อมนุษยชาติและธรรมชาติ


รัฐบาลทั่วโลกล้มเหลว ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก


แม้หลายประเทศทั่วโลก จะมีนโยบายที่ออกมาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แรงขึ้น แต่รายงานล่าสุด กับชี้ว่า หลายประเทศกับล้มเหลวที่จะปฏิบัติตาม


โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ระบุว่า รัฐบาลทั่วโลกยังล้มเหลวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น และเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ของข้อตกลงปารีส ซึ่งถ้าหากทั่วโลกไม่ดำเนินการลดปล่อยมลพิษอย่างจริงจัง โลกจะร้อนขึ้นถึง 3.1 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ส่งผลให้ภัยพิบัติรุนแรงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา 


ขณะเดียวกัน รายงาน CRI แสดงให้เห็นว่า การขาดความมุ่งมั่น และการดำเนินการ เพื่อบรรเทาผลกระทบ จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศกลุ่มร่ำรวย พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศกลุ่มรายได้สูง หรือ กลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก เร่งดำเนินการบรรเทาผลกระทบ รวมถึงตั้งเป้าหมายใหม่ ควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อควบคุมผลกระทบให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ ก่อนจะสายเกินแก้


ทั้งนี้ องค์กร Union of Concerned Scientists เคยระบุไว้ว่า ถ้าหากเราไม่เปลี่ยนแปลงอะไร โลกจะเปลี่ยนเรา และอาจเปลี่ยนจนมนุษย์อยู่ไม่ได้ในแบบที่เคยเป็นมา


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://whatisgreenliving.com/climate-change/

https://climateadaptationplatform.com/climate-changes-impact-on-everyday-life/

https://www.newscientist.com/article/2478856-the-everyday-ways-climate-change-is-already-making-our-lives-worse/

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/climate-change-and-health

https://wmo.int/media/news/january-2025-sees-record-global-temperatures-despite-la-nina

https://apnews.com/article/climate-change-damage-economy-income-costly-3e21addee3fe328f38b771645e237ff9

https://news.mongabay.com/2025/06/climate-futures-world-leaders-failure-to-act-is-pushing-earth-past-1-5c/

https://www.ucs.org/climate/science

https://www.germanwatch.org/en/cri

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง