รีเซต

มนุษย์สูญพันธ์ุเมื่อไหร่ ? เผยคำทำนายชะตากรรมโลกจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์

มนุษย์สูญพันธ์ุเมื่อไหร่ ? เผยคำทำนายชะตากรรมโลกจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2567 ( 15:02 )
42
มนุษย์สูญพันธ์ุเมื่อไหร่ ? เผยคำทำนายชะตากรรมโลกจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์

วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า โลกของเราอาจจะถึงกาลสิ้นสุด เผ่าพันธุ์มนุษย์และเผ่าพันธุ์อื่น ๆ บนโลกอาจถึงกาลสูญพันธุ์ คำถามสำคัญที่หลายคนอยากรู้ ก็คือ มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสาเหตุเกิดจากอะไร 


ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ได้ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สร้างแบบจำลองในการวิเคราะห์ ผลลัพธ์พบว่า สิ่งที่จะทำให้มนุษย์เราถึงกาลสูญพันธุ์ก็คือการที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวชนกันจนเป็นมหาทวีปใหญ่ เรียกว่า แพนเจีย อัลติมา (Pangea Ultima) ซึ่งเป็นมหาทวีปที่มีขนาดใหญ่ แต่จะร้อนระอุ แห้งแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ มันจะส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายจนทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ทั้งหมด แต่เหตุการณ์นี้จะเกิดในอีกราว ๆ 250 ล้านปีข้างหน้า


ดร.อเล็กซานเดอร์ ฟาร์นสเวิร์ธ (Dr Alexander Farnsworth) ผู้นำการเขียนงานวิจัยนี้กล่าวว่า การที่แผ่นเปลือกโลกต่าง ๆ ชนกันจนกลายเป็นมหาทวีปแพนเจีย อัลติมา จะก่อให้เกิดความเลวร้าย 3 ประการตามมา คือ ประการแรก ผลกระทบจากการรวมกันของแผ่นเปลือกโลก เช่น ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง จนส่งผลให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ประการที่สอง ดวงอาทิตย์ร้อนขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น ซึ่งก็จะนำมาสู่ผลลัพธ์ตามมาในประการที่สาม คือทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่บนโลกร้อนขึ้นจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้


ผลลัพธ์ที่ได้คือสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร โดยส่วนใหญ่จะปราศจากแหล่งอาหารและน้ำ และอากาศร้อนเกินขีดจำกัด ทั้งนี้คาดว่าดวงอาทิตย์จะปล่อยรังสีเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.5 และมหาทวีปส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น โลกในตอนนั้นจึงต้องเผชิญกับอุณหภูมิระหว่าง 40 ถึง 70 องศาเซลเซียส มนุษย์และสัตว์อื่น ๆ จะสูญพันธุ์เนื่องจากไม่สามารถระบายความร้อนนี้ออกทางเหงื่อและทำให้ร่างกายเย็นลงได้


สำหรับการทำนายนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ จำลองแนวโน้มอุณหภูมิ ลม ฝน และความชื้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบนมหาทวีปแพนเจีย อัลติมา เพื่อประเมินระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอนาคต ทีมงานได้ใช้แบบจำลองการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก เคมีในมหาสมุทร และชีววิทยา เพื่อทำแผนที่อินพุตและเอาต์พุตของก๊าซ


แบบจำลองคาดการณ์ว่าเมื่อมหาทวีปแพนเจีย อัลติมาก่อตัวขึ้น จะมีพื้นที่เพียงร้อยละ 8 ถึง 16 ของแผ่นดินเท่านั้นที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถอยู่อาศัยได้


อย่างไรก็ตาม ดร.ยูนิซ โล (Eunice Lo) ผู้ร่วมงานวิจัยบอกว่า สิ่งสำคัญคืออย่ากังวลกับสถานการณ์ในอนาคต เพราะเหตุการณ์ในคำทำนายนี้จะเกิดขึ้นในอีก 250 ปีข้างหน้า ดังนั้นให้มุ่งความสนใจไปที่เหตุการณ์ในปัจจุบันแทน เพราะตอนนี้มนุษย์เรากำลังเผชิญความร้อนจัดซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงต้องหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด


งานวิจัยนี้ยังเน้นย้ำอีกว่า โลกเราอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “เขตเอื้ออาศัย (Habitable Zone คือ บริเวณรอบดาวฤกษ์ที่อยู่ในระยะพอเหมาะ ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป จนทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้)” ซึ่งการรวมตัวเป็นมหาทวีปแพนเจีย อัลติมา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่มันจะเกิดขึ้นในอีก 250 ล้านปีข้างหน้า แต่แน่นอนว่าหากระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกมนุษย์ มันก็อาจจะทำให้โลกกลายเป็นเขตไม่เอื้ออาศัยเร็วกว่าคำทำนายก็ได้


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2023 


ที่มาข้อมูล Metro, BGR, Nature

ที่มารูปภาพ PixabayPixabay

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง