นักวิทย์จีนพบแกนโลกชั้นในอาจเคยหยุดหมุนมาก่อน แต่ยังไม่เกี่ยวกับวันสิ้นโลกตอนนี้
นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าโลกนั้นหมุนรอบตัวเองและหมุนรอบดวงอาทิตย์ และถ้าลงลึกอีกนิดจะทราบได้ว่าการหมุนรอบโลกของตัวเองนั้นเกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กของโลกเพราะว่าโลกไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่มีหลายชั้นรวมกันอยู่ และการหมุนขัดกันในแต่ละชั้นนั้นทำให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ปกป้องโลกจากพายุสุริยะ (Solar Storm) ซึ่งทำให้ไฟดับได้ทั้งเมือง และการศึกษาโดยนักแผ่นดินไหววิทยา (Seismologist) ทำให้เราทราบว่า เมื่อไม่เกิน 15 ปีมานี้ แกนชั้นในของโลกนั้นอาจจะเคยหยุดหมุนมาก่อน และตอนนี้อาจกำลังหมุนในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศเดิมที่หมุนก่อนหน้า
งานวิจัยล่าสุดของนักแผ่นดินไหววิทยา (Seismologist) จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งในจีนค้นพบว่าแกนชั้นในของโลก (Inner Core) อาจจะเคยหยุดหมุนในช่วงระหว่างปี 2009 - 2020 และอาจกำลังเริ่มหมุนย้อนกลับ หลังจากรวบรวมข้อมูลคลื่นแผ่นดินไหวย้อนหลังตั้งแต่ช่วง 1990 เป็นต้นมา และพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจนเชื่อได้ว่าแกนชั้นในของโลกมีการเปลี่ยนแปลงการหมุน
เทคนิคดังกล่าวเป็นการประยุกต์ใช้หลักการทางฟิสิกส์ของคลื่นร่วมกันข้อมูลแผ่นดินไหวเพราะโลกที่มีหลายชั้นประกอบกัน ย่อมมีคุณสมบัติทางกายภาพต่างกันด้วย ดังนั้น คลื่นจะเดินทางผ่านแต่ละชั้นด้วยความเร็วและทิศทางต่างกันไป ดังเช่นที่ดร.ยี่ หยาง (Yi Yang) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “การศึกษาแผ่นดินไหวก็เหมือนการทำซีทีสแกน (CT Scan) ให้กับโลก เมื่อเรามีข้อมูลแผ่นดินไหวที่ซ้ำกันมาก ๆ ที่ตำแหน่งเดิม”
ด้วยเหตุนี้ ดร.ยี่ หยาง (Yi Yang) และทีมนักวิจัยจากจีนจึงได้ดูข้อมูลคลื่นแผ่นดินไหวที่เคลื่อนที่ผ่านแกนชั้นในของโลกซ้ำ ๆ ในตำแหน่งใกล้เคียงกันตั้งแต่ช่วงปี 1990 - 2020 และพบว่าข้อมูลคลื่นแผ่นดินไหว (Seismic Waveform) ที่บันทึกได้มีการเปลี่ยนแปลงค่าไป ซึ่งสามารถคำนวณได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว ทิศทางการหมุน และมีช่วงเวลาที่อาจจะตีความได้ว่ามีการหยุดหมุนระหว่างปี 2009 - 2020 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การหมุนของโลกโดยรวมนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ควรจับตามองการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็ก ระยะเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเอง ซึ่งถูกนิยามเป็น 1 วัน ที่เรารู้จัก และผลการวิจัยนี้จะช่วยให้นักแผ่นดินไหววิทยา (Seismologist) สามารถศึกษาโครงสร้างภายในโลกได้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, Nature
ที่มารูปภาพ Freepik