รีเซต

โลกเราจะเป็นอย่างไร ในวันที่ไร้ดวงจันทร์ ?

โลกเราจะเป็นอย่างไร ในวันที่ไร้ดวงจันทร์ ?
TNN ช่อง16
22 มิถุนายน 2566 ( 13:57 )
112


เคยสงสัยไหมว่า ถ้าวันหนึ่งดวงจันทร์หายออกไปจากโลกจะเป็นอย่างไร ? ข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (NRAO-National Radio Astronomy Observatory) ระบุว่า ในทุก ๆ ปี ดวงจันทร์จะถอยห่างออกจากโลกอยู่ที่ประมาณ 3.78 - 4 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งถ้าดวงจันทร์ห่างออกไปเรื่อย ๆ จนหายลับไป หรือวันหนึ่งดวงจันทร์ "หายวับ" ไปเลยจริง ๆ ก็จะส่งผลกระทบกับโลกของเราอย่างมาก เพราะแรงดึงดูดของดวงจันทร์ มีผลต่อปรากฏการณ์หลายอย่างบนโลก และนี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หากโลกนี้ไร้ดวงจันทร์


ภาพจาก unsplash

1) โลกของเราอาจหมุนเอียงแบบไร้ทิศทาง

หากโลกไร้จันทร์ สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ “แกนโลกจะเอียงแบบไร้ทิศทาง” เพราะปกติแล้ว ดวงจันทร์จะช่วยไม่ให้โลกสั่นไหวอย่างรุนแรงขณะหมุน ถ้าไม่มีดวงจันทร์ แกนของโลกอาจจะโยกเยก เอนไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเอนได้ตั้งแต่ 10-45 องศา ซึ่งเอียงแค่ไม่กี่องศาก็ทำให้เกิดหายนะได้ เช่นเมื่อครั้งเกิดยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการเอียงของแกนโลกเพียงแค่ 1-2 องศาเท่านั้น ส่วนปัจจุบันนี้ถ้าถามว่าแกนโลกเอียงอยู่ที่เท่าไร คำตอบก็คือ 23.5 องศา


2) โลกของเราอาจหมุนไวขึ้น

ข้อมูลจากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ (The Planetary Science Institute) รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ระบุว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าพรุ่งนี้ตื่นมาไม่มีดวงจันทร์ ก็คือโลกของเราอาจจะหมุนไวขึ้น ในหนึ่งวันอาจจะเหลือเวลาแค่ 6-12 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะว่าไม่มีแรงดึงดูดจากดวงจันทร์มาช่วยให้โลกหมุนช้าลง


ภาพจาก unsplash

 


3) คลื่น น้ำขึ้น น้ำลง น้ำเกิด น้ำตาย อาจจะหายไป

เรื่องต่อมาที่จะเกิดขึ้นหากโลกนี้ไร้จันทร์ก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำอาจจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะ ระดับน้ำและกระแสน้ำบนโลกนี้ เกิดจากแรงโน้มถ่วงที่ดวงจันทร์กระทำต่อโลก


ถ้าไม่มีดวงจันทร์เลย ก็อาจจะทำให้การเกิดคลื่นทะเล ปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง น้ำเกิด น้ำตาย ลดลงไปจากเดิมหรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งถ้าไม่มีปรากฏการณ์เหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำอย่างเห็นได้ชัด เช่น กรณีของกุ้งและปู ที่ปกติแล้วจะมีการลอกคราบในช่วงน้ำตาย และเปลือกแข็งใหม่เต็มที่ในช่วงน้ำเกิด และที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นคือ ปรากฏการณ์นี้ก็จะส่งผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่อาหารเลยทีเดียว


ภาพจาก unsplash

 


3) สัตว์บางชนิดสืบพันธุ์ได้ยากขึ้น

การที่โลกไร้จันทร์ ยังกระทบการขยายพันธุ์ของสัตว์บางชนิด เช่น ในช่วงปลาย ๆ ที่ดวงจันทร์กำลังใกล้เข้าแรม ปูแดงตัวเมียก็จะวางไข่ลงทะเลหรืออย่างปลากรูเนียน (Grunion) ที่จะวางไข่หลังจากดวงจันทร์เต็มดวงเพียง 2-3 วันเท่านั้น ดังนั้น เมื่อดวงจันทร์หายไป พวกสัตว์บางชนิด ก็อาจจะขยายพันธุ์ได้ยากขึ้น ทำให้ประชากรของมันลดลง ซึ่งถ้ามันปรับตัวเปลี่ยนการวิธีขยายพันธุ์ไม่ได้ ก็อาจจะมีโอกาสสูญพันธุ์ได้เลย


4) อุณหภูมิโลกอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

ถ้าไม่มีดวงจันทร์ กระแสน้ำที่หมุนเวียนในมหาสมุทรทั่วโลกทั้งกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น อาจจะลดความแรงลงถึงประมาณร้อยละ 50-75 ซึ่งไม่ได้กระทบแค่สัตว์ต่างๆ ที่ต้องอาศัยกระแสน้ำในการดำรงชีวิตแล้ว แต่ยังกระทบไปถึงสภาพอากาศ ที่จะมีความแปรปรวนตามมา


เนื่องจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่บนโลกเกิดจากกระแสลมและการไหลเวียนของกระแสน้ำ ถ้ากระแสน้ำเดินทางออกจากเส้นทาง ก็จะกระทบต่อสภาพอากาศบนพื้นโลกที่มันไหลผ่านด้วยเช่นกัน รวมไปถึง การพยากรณ์อากาศอาจจะยากขึ้น และความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยอากาศที่ร้อนที่สุด และหนาวที่สุดในโลกอาจจะต่างกันสุดขั้ว ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต


ภาพจาก unsplash

 


กว่าโลกจะไร้จันทร์ พระอาทิตย์คงกินโลกไปก่อนแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะกำลังตกใจกลัว แต่จากข้อมูลของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (NRAO-National Radio Astronomy Observatory) ระบุว่า กว่าจะถึงจุดที่โลกไร้จันทร์นั้น ดวงอาทิตย์อาจทำลายโลกและดวงจันทร์ไปก่อนแล้ว เนื่องจากในอีกประมาณ 5 พันล้านปี ข้างหน้า หากดวงจันทร์ยังคงเคลื่อนที่ออกห่างจากโลกด้วยอัตราเร็วเท่าเดิม ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ออกไปจากจุดเดิมประมาณ 189,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ดวงอาทิตย์จะกลายร่างเป็นดาวยักษ์แดง (Red Giant) ขยายตัวจนกลืนกินโลกและดวงจันทร์ไปจนสิ้น ตามวัฎจักรของดาวฤกษ์ ตามที่นักดาราศาสตร์คาดการณ์


และนี่ก็คือทั้งหมดของเหตุการณ์น่าอาจจะเกิดขึ้น หากโลกของเราไร้จันทร์ขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งก็น่าจะทำให้เราเห็นความสำคัญของดวงจันทร์มากขึ้น ว่าไม่ได้มีแค่กระต่ายอยู่บนนั้น หรือเป็นแค่ดาวบริวาร สร้างความสวยงามให้กับท้องฟ้าในยามค่ำคืนเท่านั้น แต่การมีอยู่ของมัน สำคัญต่อทุกชีวิตบนโลกจริง ๆ 


ข้อมูลจาก earthsky, astronomy, nationalgeographic, lpi.usra, sciencenorway, zmescience, public.nrao, svs.gsfc.nasa, labxchange.org

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง