"จักรวาลนฤมิต" คำภาษาไทยที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติ จาก Metaverse
วันนี้ (3ธ.ค.64) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ได้มีมติบัญญัติคำ “Metaverse” เป็นภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” โดยเขียนทับศัพท์ได้ว่า “เมตาเวิร์ส”
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 ตุลาคม 64) ตามเวลาสหรัฐฯ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” CEO ของ Facebook ได้ประกาศว่า บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Meta” (เมตา) พร้อมโลโก้ใหม่ ลักษณะคล้ายสัญลักษณ์อินฟินิตี้ สะท้อนแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตที่เน้นสร้าง “Metaverse” (เมตาเวิร์ส) หรือ “โลกเสมือนจริง” (Virtual Reality-VR) โดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” คาดว่า จะมีคนใช้งาน “Metaverse” 1,000 ล้านคนภายใน 10 ปีข้างหน้า
Metaverse (เมต้าเวิร์ส) คืออะไร
คอนเซ็ปต์ Metaverse ของ Meta เป็นเหมือนกับ “โลกเสมือนจริง” ที่ทุกคนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในโลกนั้นได้ โดยการเข้าสู่โลก Metaverse ก็จะต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมที่สามารถทำได้ก็เช่น การดูหนัง ทำงาน ประชุม ไปคอนเสิร์ต การเดินทางไปที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งลองเสื้อผ้า โดยที่เราไม่ต้องไปยังสถานที่นั้น จะไปเจอใครก็ทำได้หมดไม่จำกัดสถานที่ แม้ตัวเราจริง ๆ จะนั่งอยู่ที่บ้านก็ตาม
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก วรัชญ์ ครุจิต / สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ภาพจาก AFP