จับจุดศัพท์ใหม่ต้องรู้ “พาดหัวยั่วให้คลิก” หรือ “Clickbait” เป็นยังไง
“พาดหัวยั่วให้คลิก” หรือ “Clickbait” เป็นคำศัพท์บัญญัติล่าสุดที่ราชบัณฑิตยสภาได้เผยแพร่สู่สังคมออนไลน์จนกลายเป็นกระแสที่พูดถึง หรือไวรัล (Viral) เมื่อไม่นานมานี้ แต่ “พาดหัวยั่วให้คลิก” หรือ “Clickbait” มีลักษณะเป็นอย่างไรนั้น TNN Tech ได้แสดงตัวอย่างพาดหัวยั่วให้คลิกให้อ่านกัน
ตัวอย่าง“พาดหัวยั่วให้คลิก” หรือ “Clickbait”
อีลอน มัสก์ บอกในสิ่งที่คุณรู้แล้วจะพลิกชีวิต
เป็นการยกคนดังมาพูดหัวข้อที่ดูเกี่ยวกับการทำให้ชีวิตดีขึ้น โดยมักพาดหัวรองในลักษณะว่า “อีลอน มัสก์ ได้เผยรายละเอียดที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน…” ซึ่งคลิกแล้วก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ อาจจะเป็นทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่พาดหัวใหญ่โต
พบแล้วเอเลี่ยน ! ความลับที่ปิดไว้จากคนทั้งโลก
“สุดทึ่ง กับหลักฐานลับเอเลี่ยนที่รัฐบาลปิดเอาไว้” ซึ่งความเป็นจริงอาจจะเป็นเพียงข่าวคนที่เคลมว่าเจอเอเลี่ยนเฉย ๆ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลเลย
ความลับที่ทำให้มาร์ก ซักเกอร์เบิร์กต้องตกใจ
“พบความลับที่แม้แต่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์กก็ไม่เคยรู้มาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่ามาร์ก ซักเคอร์เบิร์กไม่เคยรู้แน่ ๆ เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเขาเลย มักจะพบในโฆษณาขายสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
เผยภาพลับ “นักข่าวชื่อดัง” รีบดูก่อนโดนลบ
“หลุดภาพ “นักข่าว” ด้านเทคโนโลยีชื่อดัง” ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีอะไรเลย แต่เล่นกับภาพด้วยการนำบุคคลที่มีชื่อเสียงมาบิดหัวข้อข่าวเท่านั้น หรือนำภาพที่เปิดเผยลงโซเชียลมีเดียมาประกอบ แต่จัดวางภาพให้เหมือนกับเป็นภาพหลุด
แค่ดูสิ่งนี้ทุกวันก็รวยขึ้นได้ ! แค่วันละ 5 นาที เท่านั้น
“เปิดคลิปพลิกชีวิตที่ดูแค่วันละ 5 นาที ก็มีโอกาสเป็นเศรษฐีได้” เป็นการเล่นกับความต้องการร่ำรวย หนึ่งในความปรารถนาพื้นฐานของคนในสังคม
AI จะครองโลก ต้องรีบหยุดก่อนสายเกินไป
“พบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ AI ครั้งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน” อาจจะเป็นเรื่องของแชตจีพีที (ChatGPT) หรือเรื่องทั่วไปของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ได้เช่นกัน
โดยคำว่า “Clickbait” หรือคลิกเบต หรือพาดหัวยั่วให้คลิก มาจากคำว่า คลิก (click) ที่หมายถึงการคลิกเมาส์ และ เบต (bait) ที่แปลว่าเหยื่อตกปลา โดยเจย์ ไกเกอร์ (Jay Geiger) บล็อกเกอร์ด้านการตลาดชื่อดังในต่างประเทศเป็นคนเริ่มนิยามคำนี้ขึ้นมาในปี 2006
ที่มาข้อมูล ราชบัณฑิตยสภา, Grammarist