“Golden Dome” คืออะไร ใช้เทคโนโลยีอะไรป้องกันภัยทางอากาศอเมริกา ? แถมใช้งบ 6 ล้านล้านบาท

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แห่งสหรัฐฯ อนุมัติงบประมาณมูลค่า 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 6 ล้านล้านบาท ในการพัฒนา โกลเดน โดม (Golden Dome) หรือโครงการป้องกันภัยทางอากาศสำหรับสหรัฐอเมริกาที่มีต้นแบบมาจากระบบไอออน โดม (Iron Dome) ของอิสราเอล หลังจากเปิดเผยแผนการตามที่ TNN Tech รายงานก่อนหน้านี้
ความเป็นมาของระบบ Golden Dome
Golden Dome เป็นระบบต่อต้านภัยทางอากาศ และระบบต่อต้านจรวด ปืนใหญ่ และปืนครก (Counter rocket, artillery, and mortar: C-RAM) ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อนุมัติผ่านคำสั่งประธานาธิบดี (Executive order) ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
Golden Dome ถูกพูดถึงครั้งแรกโดยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ในปี 1983 แต่เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ก้าวล้ำเพียงพอ จึงเป็นเพียงแผนการที่โดนพับไป จนกระทั่งการมาถึงของระบบไอออน โดม (Iron Dome) ของอิสราเอล ซึ่งทำให้ทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐฯ สามารถสร้างระบบที่คล้ายกันนี้ขึ้นมาสำหรับประเทศตัวเองได้
ระบบ Golden Dome คืออะไร ?
ในเบื้องต้น Golden Dome ของสหรัฐอเมริกา จะเป็นการต่อยอดจากระบบเดิมของระบบ Iron Dome ที่ใช้เครือข่ายเรดาร์เข้ามาตรวจจับวัตถุขีปนวิถีที่เข้ามาและส่งจรวดไปยิงสกัดทำลายแบบอัตโนมัติ ด้วยเสริมการตรวจจับผ่านเครือข่ายดาวเทียมที่อาจมากถึงหลักร้อยดวง เพื่อที่จะตรวจหา ตรวจจับ และคำนวนตำแหน่งเข้าสกัดอัตโนมัติหลายเป้าหมายพร้อม ๆ กันได้
อีกทั้ง Golden Dome จะเข้ามาเสริมศักยภาพของ นอแรด (NORAD) ที่เป็นหน่วยบัญชาการที่ดึงข้อมูลจากดาวเทียม และเซนเซอร์ทุกชนิดที่ทั้งสหรัฐและแคนาดามีอยู่มาใช้ประเมินภัย ซึ่งการตอบโต้หรือสกัดกั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเป็นอาวุธประเภทใด เช่น เป็นขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ จรวดร่อน วัตถุจากอวกาศ หรือขีปนาวุธข้ามทวีป แต่แคนาดายังไม่มีท่าทีต่อการเข้าร่วมโครงการ Golden Dome ในปัจจุบัน
งบประมาณและผู้ผลิตระบบ Golden Dome
ทรัมป์ประกาศกรอบงบประมาณลงทุน Golden Dome ไว้ที่ 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.73 ล้านล้านบาท และคาดว่างบก้อนแรกในการเริ่มดำเนินการจะอยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 820,000 ล้านบาท และวางกรอบแผนงานให้เสร็จภายในปี 2029 นี้
ทรัมป์ยังระบุอีกด้วยว่ารัฐอะแลสกาจะกลายเป็นกุญแจสำคัญของโครงการ ตามมาด้วยรัฐฟลอริดา จอร์เจีย และอินเดียนาที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้เช่นกัน
โดยผู้ผลิตอาวุธและระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีศักยภาพในการพัฒนา Golden Dome ได้แก่ ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin - ซึ่ง TNN Tech เคยรายงานก่อนหน้านี้) รวมไปถึง แอลทรี แฮร์ริส (L3Harris) อาร์ทีเอ็กซ์ (RTX) แอนดูริล (Anduril) รวมถึง พาแลนเทียร์ (Palantir Technologies) บริษัทผู้พัฒนา AI ด้านความมั่นคงในสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจได้รับสัญญาเพื่อพัฒนาระบบบางส่วนหรือส่วนใหญ่ของ Golden Dome ได้
ระบบ Golden Dome อาจมีอุปสรรค ?
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ส (Reuters) รายงานความเห็นของทอม คาระโคะ (Tom Karako) ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies: CSIS) ที่เป็นสถาบันวิชาการ (Think Tank) ซึ่งมองว่า “คำถามที่ตามมาก็คือ 175,000 ล้านเหรียญ จะเสร็จได้เมื่อไหร่ ซึ่งก็อาจจะอย่างน้อย 10 ปี” หรือประมาณ 2035 ซึ่งเกินกว่าที่ทรัมป์คาดหวังไว้
นอกจากนี้ Reuters ยังอ้างแหล่งข่าวด้านอุตสาหกรรมความมั่นคงคนหนึ่งที่ให้ความเห็นว่า “งบลงทุน Golden Dome นั้นอาจจะไม่ได้มีแหล่งที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้แผนงานตามระยะเวลาที่วางไว้นั้นเป็นเรื่องอันตรายที่จะทำ”
แม้โครงการ Golden Dome จะมีทั้งงบประมาณมหาศาลและแรงผลักดันทางการเมืองจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ยังเผชิญคำถามสำคัญเรื่องแหล่งเงินลงทุน กำหนดเวลา และความพร้อมของเทคโนโลยี แต่ถ้าหากสามารถเดินหน้าตามแผนได้สำเร็จ Golden Dome ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนโฉมการป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ และส่งผลต่อดุลอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลกในอนาคต