‘อุทาหรณ์คนรักเด็ก’ เปิดข้อกฎหมายคดีพรากผู้เยาว์ ‘แม้เด็กจะยินยอม ก็ผิดติดคุกจริง’
จากกรณี อดีตนักมวยชื่อดัง เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก มวยสากลสมัครเล่น ปี 1996 เจ้าของวลีเด็ด “ไม่ได้โม้” สมรักษ์ คำสิงห์ ถูกสาวกาฬสินธุ์ วัย 17 ปี แจ้งความ กล่าวหาว่า ถูกสมรักษ์ พาเข้าโรงแรม ลวนลาม และอนาจาร
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า “ถ้านี่เป็นเรื่องจริง สมรักษ์ จะเข้าข่ายความผิด ฐานพรากผู้เยาว์ ไม่ว่า ฝ่ายหญิงจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม”
สอดคล้องกับความเห็นของ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ที่ระบุว่า หากเยาวชนอายุ 17 ปี จากเรื่องนี้ ยินยอม ก็ถือว่าผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 ฐานพาผู้อื่นไปเพื่ออนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พรากผู้เยาว์ แต่ "เขา" ยินยอม ??
เนื่องด้วยกฎหมายได้คุ้มครองสิทธิของเด็ก และเยาวชน โดยกำหนดว่าการพาไป หรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองนั้น ถือเป็นการ “พราก”
หากเด็กมีอายุไม่เกิน 15 ปี ถูกพรากไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร ไม่ว่าเด็กจะเด็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม ผู้กระทำมีความผิด “ฐานพรากเด็ก” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6 หมื่นถึง 3 แสนบาท (ป.อาญา ม.317 วรรค1)
หากเยาวชนอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ถูกพรากไปเพื่อหากำไรหรือเพื่ออนาจาร ถึงแม้ว่าเยาวชนนั้นจะเต็มใจก็ตาม ผู้กระทำก็มีความผิดฐาน “พรากผู้เยาว์” ระวางโทษตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งต่ 4 หมื่นถึง 2 แสนบาท (ป.อาญา ม.319 ว.1)
โดยผู้เสียในคดีพรากผู้เยาว์นี้ กฎหมาย ถือว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เป็นผู้เสียหาย
คดีพรากผู้เยาว์ ยอมความได้ไหม?
เว็บไซต์ ทนายใกล้ตัว ระบุว่า ในส่วนความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ตามมาตรา 319 วรรคแรกซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้จะเจรจาตกลงกันได้แต่ก็ไม่สามารถยอมความกันได้ ทำให้ท้ายที่สุด ผู้กระทำความผิด หรือ จำเลย ก็ยังคงถูกดำเนินคดีอาญา ในข้อหาดังกล่าว และอาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ หากจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม เพราะศาลอาจรอการลงโทษไม่ได้
มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
"สมรักษ์" ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว ลาออกไปตั้งแต่ 1 เม.ย.66
กองทัพเรือ ชี้แจงกรณีของ ร.อ.สมรักษ์ คำสิงห์ ว่า ขอเรียนให้ทราบว่าสถานะตอนนี้ไม่ได้เป็นข้าราชการกองทัพเรือ เนื่องจากว่า ได้ลาออกราชการเพื่อไปสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 1 เมษายน 2566 การกระทำใดๆ ของสมรักษ์ ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกองทัพเรือ
ขณะที่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)ฉะเชิงเทรา เขต 3 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นทางพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเรื่องนี้ตามหลักการต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องรอผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ในส่วนของพรรค พปชร.ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อบังคับการพิจารณาความผิดของสมาชิกพรรค ซึ่งมีข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน โดยจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ คณะกรรมการบริหารจะดำเนินการพิจารณาและตัดสินต่อไป
ข้อมูล ทนายรณณรงค์ / ทนายใกล้ตัว / กองทัพเรือ / พลังประชารัฐ