รีเซต

เปิดโทษคดี “พรากผู้เยาว์” แม้เด็กยินยอมก็ “ติดคุก”

เปิดโทษคดี “พรากผู้เยาว์” แม้เด็กยินยอมก็ “ติดคุก”
TNN ช่อง16
16 ธันวาคม 2566 ( 18:17 )
95

กลายเป็นข่าวดังชั่วข้ามคืน เมื่อนักกีฬาคนดังระดับประเทศรายหนึ่ง ถูกเยาวชนหญิงวัย 17 ปี เข้าแจ้งความว่า ถูกนักกีฬารายดังกล่าว ลวนลามและกระทำอนาจาร หลังจากที่ทั้งคู่ เจอกันในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ใน จ.ขอนแก่น


หลังจากข่าวนี้ถูกเปิดเผยออกมา ก็มีกลายกระแส แต่ถ้ากรณีนี้มีการล่วงละเมิดทางเพศจริง งานนี้นักกีฬาคนดัง คงจะต้องถูกดำเนินคดีฐาน “พรากผู้เยาว์” 


แต่งานนี้ คงต้องดูกันอีกยาว เพราะล่าสุดนักกีฬาคนดัง ถูกตำรวจแจ้ง 4 ข้อหา แต่เจ้าตัวปฏิเสธ และขอชี้แจงความบริสุทธ์ของตนเอง ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงต้องรอพยานหลักฐานเพิ่ม เพื่อนำมาประกอบพิจารณาคดีต่อไป



คดี“พรากผู้เยาว์” เกิดขึ้นทั่วโลก และแต่ละประเทศก็มีกฏหมายที่แตกต่างกันออกไป


ในเมืองไทย ก็มีกฏหมายที่คุ้มครองเยาวชนที่ถูก “พรากผู้เยาว์” เช่นกัน และเพื่อให้เข้าใจในข้อกฏหมายของไทย และให้เกิดความกระจ่างชัด การ“พรากผู้เยาว์”คือ การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา


การพรากผู้เยาว์ ถือเป็น “ความผิดทางอาญา” ซึ่งมักจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยความผิดฐานพรากผู้เยาว์ที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นจำนวนมาก มักเป็นคดีพรากร่วมกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา, พาไปเพื่อการอนาจาร, หรือพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร 


ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ มีกฏหมายหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท 


ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก ผู้ใดพากผู้เยาว์อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 ถึง 200,000 บาท 


นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 278 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยที่บุคคลนั้นไม่อาจขัดขืนได้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท


กรณีการพาผู้เยาว์อายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ระวางโทษทั้งจำและปรับ 


“ความผิดฐานพรากผู้เยาว์” ถือเป็นความผิดที่ผู้กระทำ ได้กระทำต่อเสรีภาพของผู้เยาว์ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ฟ้องหรือร้องทุกข์เอาผิดตัวผู้กระทำ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ตำรวจสามารถจับตัวผู้กระทำให้มารับโทษทางอาญาได้ 


ดังนั้นใครที่กระทำผิดในคดีดังกล่าว จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หากพบว่า มีความผิดจริง งานนี้มีโอกาส “ติดคุก” แน่.



มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง