รีเซต

8 ปีเด็กไทยตกเป็นเหยื่อ ล่วงละเมิดบนออนไลน์เพิ่มขึ้น 24 เท่า ปัญหาที่โลกยังแก้ไม่ตก

8 ปีเด็กไทยตกเป็นเหยื่อ ล่วงละเมิดบนออนไลน์เพิ่มขึ้น 24 เท่า ปัญหาที่โลกยังแก้ไม่ตก
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2567 ( 20:39 )
97

แต่ภายใต้เงาของการพัฒนาเหล่านี้ มีความจริงที่น่าหวาดหวั่นซ่อนอยู่ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ปี 2021 ผู้หญิง 1 ใน 5 และผู้ชาย 1 ใน 13 มีรอยแผลเป็นจากการล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก โดยแนวโน้มที่เด็กจะถูกล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามการขยายตัวอันไร้ขอบเขตของอินเทอร์เน็ต 


---8 ปี เด็กไทยถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 24 เท่า—


นับตั้งแต่ปี 2016-2023 ประเทศไทย พบคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กแล้วทั้งหมด 1,192 คดี โดยพบว่า คดีล่วงละเมิดเด็กเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึง 476 คดี คิดเป็น 24 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2016 อยู่ที่ 20 คดี 


หากแบ่งตามลักษณะการถูกละเมิด พบว่าตลอดระยะเวลา 8 ปี การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชนมีจำนวนคดีความมากที่สุดรวม 593 คดี อันดับ 2 การถูกล่วงละเมิดทางเพศ 374 คดี อันดับ 3 การค้ามนุษย์ 210 คดี และอันดับสุดท้ายการนำข้อมูลอนาจารของเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์มี 15 คดี จากสถิติยังพบด้วยว่าเริ่มมีคดีความประเภทสุดท้ายนี้ในปี 2020 

    

ด้านสถิติผู้กระทำความผิดฐานแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางออนไลน์ จากฐานข้อมูลชุดเดียวกันตั้งแต่ปี 2016 - ตุลาคม 2023 พบผู้กระทำผิดมากถึง 1,404 คน แบ่งเป็นผู้กระทำผิดเพศชาย 1,221 คดี (86.97%) และผู้กระทำผิดเพศหญิง 183 คดี (13.03%) โดยในปีที่ 2022 พบผู้กระทำผิดมากที่สุดจำนวน 525 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 56 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2016 ที่พบผู้กระทำผิดน้อยที่สุด 25 คดี โดยผู้กระทำผิดเป็นเพศชายทั้งหมด และเมื่อแบ่งตามสัญชาติพบว่าคนไทยล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนในประเทศของตนเองสูงเป็นอันดับ 1 จำนวน 1,309 คดี รองลงมาคืออเมริกัน 17 คดี อังกฤษ 8 คดี และออสเตรเลีย 8 คดี และสัญชาติอื่น ๆ รวม 53 คดี


8 ปีที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนไทยกลายเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 985 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กผู้หญิง 695 คน (70.56%) และเด็กผู้ชาย 290 คน (29.44%) โดยถูกละเมิดสูงสุดในปี 2022 จำนวน 432 คน เป็นเด็กผู้หญิง 280 คน เด็กผู้ชาย 152 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ถูกละเมิดรวมน้อยที่สุด 14 คน ถึง 31 เท่า และหากแบ่งตามช่วงอายุของเด็กที่ถูกละเมิด พบว่ากลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดมากที่สุดคือช่วงอายุ 8 – 14 ปี มีเด็กตกเป็นเหยื่อมากถึง 473 คน รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-17 ปี และอายุมากกว่า 18 ปี ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 8 ปี ถูกละเมิดน้อยที่สุด


---ทำไมเด็กยังคงถูกล่วงละเมิด--- 


จากรายงาน Disrupting Harm in Thailand หรือ หลักฐานเกี่ยวกับแสวงหาประโยชน์ทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ จัดทำโดย องค์การเอ็คแพท องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพล และศูนย์วิจัยอินโนเซนติขององค์การยูนิเซฟ เผยถึงอุปสรรคในการจัดการปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดไว้ ดังนี้


1.เด็ก และผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่แจ้งเหตุการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์


  • ในปี 2021 เด็กอายุ 12 - 17 ปี ราว 10-31% ถูกแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ไม่ได้เปิดเผยประสบการณ์ลักษณะดังกล่าวของตนต่อผู้ใด

  • มีผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กที่เข้าร่วมการสำรวจเพียง 17% ที่กล่าวว่าพวกเขาจะแจ้งตำรวจหากลูกของตนประสบกับการลวนลามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์


2. การล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศทำให้เด็กตกอยู่ในประสบการณ์ที่น่ากลัว โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กไม่กล้าเปิดเผยถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่พวกเขาประสบพบเจอมา คือ พวกเขาไม่รู้ว่าจะบอกใครหรือจะไปบอกที่ไหน


47% ของเด็กที่เข้าร่วมการสำรวจกล่าวว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้จากที่ไหน หากตนเองหรือเพื่อน ๆ ถูกคุกคามหรือลวนลามทางเพศ


3. ประสบการณ์ที่เด็กบางคนได้รับคือความรู้สึกอับอาย ถูกตำหนิ และความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการพูดหรือเปิดเผยเรื่องราว


อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่: https://www.unicef.org/thailand/media/8441/file/Disrupting%20Harm%20in%20Thailand%20TH.pdf


---ควีนสวีเดนห่วงใยเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางออฟไลน์-ออนไลน์--- 


สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน ทรงให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนไทย ตอบคำถามเกี่ยวกับการทารุณกรรมเด็กที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก “Child Protection Summit, Bangkok 2024” จัดโดยมูลนิธิเด็กโลกและมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก


สื่อมวลชน ได้ถามต่อพระองค์ว่า “ภูมิทัศน์ทางสังคมที่กำลังพัฒนา เน้นย้ำว่า การเพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สำคัญ ในฐานะแหล่งข้อมูลของข่าวสาร และเสนอวิธีแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีหลักฐานว่า เป็นเครื่องมือในการล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การล่วงละเมิดทางเพศเด็กแบบออฟไลน์ก็เพิ่มขึ้น พระองค์ทรงมีคำแนะนำอย่างไรในการแก้ปัญหานี้ ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์” 


สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน ทรงให้คำแนะนำว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายที่พ่อแม่จะควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของลูก แต่เมื่อถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้รับคำแนะนำว่า “คุณควรอยู่ใกล้ ๆ กับคอมพิวเตอร์ และควรตั้งมันไว้ไม่ไกลจากสายตาของคุณ แล้วคุณจะสามารถรู้ได้ว่า ลูกหลานคุณทำอะไร และสื่อสารอย่างไรขณะใช้คอมพิวเตอร์  แล้วคุณก็จะได้เห็นด้วยว่า ใครที่พยายามติดต่อลูกของคุณอยู่ นั่นเป็นหนึ่งในวิธีที่คุณสามารถทำได้”


“อินเทอร์เน็ตอย่างที่เราพูดถึงทุกวันนี้ สวยงามและน่าทึ่งมาก ๆ แต่มันก็อันตรายมาก ๆ ฉันหวังว่า บริษัทใหญ่ ๆ ที่มีความรับผิดชอบ พวกเขาต้องหาทางในการควบคุมมัน เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เข้าไม่ถึงอันตรายของอินเทอร์เน็ต” 


“ฉันรู้ว่ามันมีเรื่องเงินจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่เราต้องหาวิธี เราต้องเป็นพ่อแม่ที่ดีก็จริง แต่พวกเขาก็ต้องเป็นบริษัทที่ดีด้วยเช่นกัน ฉันคิดว่าพวกเขาต้องมีความรับผิดชอบด้วย” สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน กล่าว 


พระองค์ ยังตรัสด้วยว่า ทุกวันนี้มีองค์กรต่าง ๆ มากมายในไทย ที่คอยทำงานด้านนี้อยู่ และนี่เป็นช่วงเวลาแห่งความหวังจริง ๆ ที่ได้เห็นองค์กรทั้งหมดเหล่านี้ทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ 

การแก้ปัญหาทั่วโลก และไทย 


---แนวทางการแก้ปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิด--- 


การค้ามนุษย์และแสวงหาประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ในเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ยังคงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการจัดการปัญหา เนื่องด้วยตัวเลขของเหยื่อที่ถูกละเมิดนั้นเพิ่มขึ้นในทุกปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา 


ชายไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ในการละเมิดเด็กและเยาวชนของตนเอง ขณะที่เด็กผู้หญิงยังคงเป็นเป้าหมายหลักในการถูกละเมิดทางเพศ แม้จะมีมาตรการป้องกัน การจัดการ รวมถึงความช่วยเหลืออย่างเข้มข้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ รวมถึงผู้ปกครองแล้วก็ตาม


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ WHO เผยว่า การป้องกันและตอบสนองต่อเหตุการณ์ทารุณกรรมเด็ก หรือ ล่วงละเมิดเด็ก จำเป็นต้องใช้แนวทางจากหลายภาคส่วน ยิ่งเด็กมีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีประโยชน์ต่อเด็กมากขึ้นเท่านั้น 


โดยแนวทางในการป้องกันและรับมือเกี่ยวกรณีเด็กถูกล่วงละเมิดจาก WHO มีดังนี้ 


  1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุนพ่อแม่และผู้ดูแล ให้ข้อมูลและสร้างทักษะ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเลี้ยงดูที่อ่อนโยนและไม่ใช้ความรุนแรง

  2. เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กได้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่น และลดปัจจัยเสี่ยงเผชิญเหตุรุนแรง

  3. จัดตั้งโปรแกรมป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และสอนทักษะ เพื่อช่วยให้เด็กและวัยรุ่นเข้าใจเรื่องการยินยอม หลีกเลี่ยงและป้องกันการล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ รวมถึงการขอความช่วยเหลือและการสนับสนุน

  4. สร้างสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ดี ปราศจากความรุนแรง และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน ครู และผู้บริหาร

  5. เปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมที่มีจำกัดและเป็นอันตรายในการเลี้ยงดูเด็ก เช่น การลงโทษเด็กโดยใช้ความรุนแรง เป็นต้น 

  6. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อคดีทารุณกรรมเด็ก หรือ ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 

  7. ดูแลเหยื่อ และครอบครัวเหยื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการก่อเหตุทารุณกรรมซ้ำ และบรรเทาผลกระทบที่จะตาม


แม้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กจะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยากในปัจจุบัน และดูเหมือนจะมีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของอินเทอร์เน็ต แต่ขณะเดียวกัน เด็กคืออนาคตของชาติ ฉะนั้นเพื่อปกป้องอนาคตที่สดใส ผู้ใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเล็งเห็น และแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้เด็กต้องถูกทิ้งอย่างเดียวดาย เพื่อไม่ให้รอยยิ้มที่สดใสเหล่านี้ ต้องจางหายไปตามกาลเวลา 


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: 


ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

https://www.weprotect.org/wp-content/uploads/Global-Threat-Assessment-2023-English.pdf

https://www.devex.com/news/sponsored/opinion-tackling-global-online-harms-for-children-and-young-people-106818

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/child-maltreatment

ข่าวที่เกี่ยวข้อง