รีเซต

เกิดอะไรขึ้นในรัฐมณีปุระ หลังโซเชียลแพร่คลิปหญิงอินเดียถูกบังคับแก้ผ้า-ข่มขืน เมื่ออาชญากรรมทางเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือ

เกิดอะไรขึ้นในรัฐมณีปุระ หลังโซเชียลแพร่คลิปหญิงอินเดียถูกบังคับแก้ผ้า-ข่มขืน เมื่ออาชญากรรมทางเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือ
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2566 ( 19:18 )
294
เกิดอะไรขึ้นในรัฐมณีปุระ หลังโซเชียลแพร่คลิปหญิงอินเดียถูกบังคับแก้ผ้า-ข่มขืน เมื่ออาชญากรรมทางเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือ

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ได้ส่งผลให้รัฐเล็ก ๆ ของอินเดีย อย่าง รัฐมณีปุระ เผชิญกับปัญหาความขัดแย้งรุนแรง จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นสงครามกลางเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลักร้อย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก จากการปะทะกันระหว่าง 2 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์เมเต (Meitei) และกูกิ (Kuki) ที่กำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงสิทธิ์ในการครอบครองดินแดน และอิทธิพลในพื้นที่


การต่อสู้กันระหว่าง 2 ฝ่าย ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อคลิปวิดีโอของการล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวจากกลุ่มชาติพันธุ์กูกิในรัฐมณีปุระถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว สร้างความตื่นตระหนก และความโกรธแค้นแก่ชาวอินเดียจำนวนมาก โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สร้างความหวาดกลัวแก่เหล่าสตรีในภูมิภาค ที่หวั่นว่าจะต้องเผชิญฝันร้าย เพียงเพราะพวกเธอมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน


---เกิดอะไรขึ้นที่รัฐมณีปุระ--- 


คลิปวิดีโอดังกล่าว ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันพุธ (19 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา เผยให้เห็น หญิงสาว 2 คนจากกลุ่มชาติพันธุ์กูกิ ถูกบังคับให้เปลือยกาย และเดินแห่ไปตามท้องถนนในรัฐมณีปุระ ก่อนพวกเธอจะถูกลากไปรุมข่มขืนโดยบรรดากลุ่มชายฉกรรจ์ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์เมเต ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐมณีปุระ 


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อราว 2 เดือนที่แล้ว ระหว่างที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ดำเนินการตัดอินเทอร์เน็ตในรัฐ เพื่อหวังยับยั้งการประท้วงที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกเมื่อไม่นานมานี้ จึงทำให้เรื่องนี้เพิ่งจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนอินเทอร์เน็ต 


กีตา แพนเดย์ ผู้สื่อข่าวของ BBC รายงานว่า วิดีโอดังกล่าว คือตัวอย่างล่าสุด ที่การข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือระหว่างที่เกิดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งมักจะกลายเป็นวังวนของการแก้แค้น


ขณะที่สื่อท้องถิ่นอินเดีย ระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังมีการรายงานข้อมูลเท็จว่า มีผู้หญิงจากกลุ่มชาติพันธุ์เมเตถูกข่มขืน และฆ่าทิ้งในเขตชุรจันทปุระ โดยทหารกองหนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์กูกิ สิ่งนี้ได้นำไปสู่การตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงชนเผ่ากูกิ จากฝีมือของกลุ่มชาติพันธุ์เมเต


ทั้งนี้  จากการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงพบว่า ภาพของเหยื่อที่ถูกอ้างว่ามาจากกลุ่มชาติพันธุ์เมเตนั้น แท้จริงแล้ว เป็นภาพหญิงสาวจากเดลี ที่ถูกสังหารโดยผู้ปกครองของเธอเองตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 


---รัฐบาลดำเนินการอย่างไร ?---


ผู้ต้องสงสัยหลักในการก่อเหตุอุกอาจดังกล่าว คือคูอิเรม เฮโรดาส มาจากกลุ่มชาติพันธุ์เมเต เขาถูกตำรวจจับเมื่อวันพฤหัสบดี (20 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา หลังจากที่นเรทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ออกมาประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในมณีปุระว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นการกระทำที่น่าละอาย และให้คำมั่นว่า จะดำเนินการต่อเรื่องนี้อย่างเข้มงวด 


ด้านเจ้าหน้าที่ในรัฐมณีปุระ เผยว่า ได้ดำเนินการสอบสวนต่อเรื่องดังกล่าวทันที เมื่อคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ และจะทำการสอบสวนอย่างละเอียด ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่ามีความผิดจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อเหตุจะถูกตัดสินประหารชีวิต


---ประชาชนบุกพังบ้านผู้ก่อเหตุ---


หลังจากวิดีโอถูกเผยแพร่ ได้จุดประกายให้เกิดการประท้วงทั่วอินเดียเมื่อวันศุกร์ (21 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา เหล่าผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐมนตรีของรัฐลงจากตำแหน่ง เนื่องจากดำเนินการล่าช้าในการจับกุมผู้กระทำผิด 


ขณะเดียวกัน ผู้หญิงในรัฐมณีปุระก็รวมตัวกันไปพังบ้านของผู้ต้องสงสัยหลัก โดยพวกเธอได้ใช้ไม้ไผ่ทุบทำลายบ้าน รวมถึงจุดไฟเผาบ้านผู้ก่อเหตุเพื่อระบายความโกรธ


นอกจากนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอินเดียยังมีแผนที่จะจัดการประท้วงขึ้นในหลายเมืองทั่วอินเดีย เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และการสืบสวนคดีที่รวดเร็วเกี่ยวกับเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น รวมถึงมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้หญิงในอินเดีย


---กลุ่มชาติพันธุ์กูกิ และเมเต คือใคร ?--- 


กลุ่มชาติพันธุ์เมเตมีรากฐานอยู่ในรัฐมณีปุระ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์กูกิ ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์ อาศัยอยู่ตามทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย 


---จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง--- 


พื้นที่ในรัฐมณีปุระ มีประชาชนอาศัยอยู่ราว 3.3 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวเมเต ขณะที่ อีก 43% เป็นชาวกูกิ และนากา โดยชาวเมเตจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเจริญมากกว่า 2 ชนเผ่า ซึ่งอาศัยอยู่ตามเขตภูเขา


การปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย เริ่มปะทุขึ้น เมื่อกลุ่มกูกิประท้วงต่อต้านข้อเรียกร้องของกลุ่มเมเต ที่ต้องการได้รับสถานะชนเผ่าอย่างเป็นทางการ ซึ่งกลุ่มกูกิโต้แย้งว่า การให้สถานะดังกล่าว จะทำให้พวกเขามีอิทธิพลต่อรัฐบาล และสังคมมากขึ้น และจะอนุญาตให้พวกเขาสามารถซื้อที่ดินและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของกลุ่มชาวกูกิได้ เนื่องจากมีชาวเมเตหลายคนที่มีตำแหน่งในรัฐบาลท้องถิ่น


นอกจากนี้ ชาวกูกิ ยังอ้างว่า สงครามปราบปรามยาเสพติดที่ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่นที่นำโดยชาวเมเตนั้น เป็นเพียงฉากบังหน้าในการถอนรากถอนโคนพวกเขา 


นับตั้งแต่เกิดเหตุขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มชาติพันธุ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 130 ราย บาดเจ็บมากกว่า 400 ราย ประชาชนมากกว่า 60,000 คนจำเป็นต้องลี้ภัยออกจากบ้านเกิด บ้านและโบสถ์ในหมู่บ้านหลายสิบแห่งถูกเผาทำลาย ตำรวจและทหารต้องนำกำลังเข้าไปควบคุมความสงบ


---การข่มขืนถูกใช้เป็นอาวุธบนความขัดแย้ง---


ในประวัติศาสตร์ การข่มขืนมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก้แค้นช่วงที่เกิดเหตุขัดแย้งมาเป็นระยะเวลานาน โดยส่วนใหญ่เหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศมักเกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชียใต้ ยกตัวอย่างเช่น ปี 1947 ในเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดีย, ปี 1971 สงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ, ปี 1984 การก่อจลาจลต่อต้านชาวซิกข์ และสงครามการเมืองในศรีลังกา, ปี 2002 การก่อจลาจลในรัฐคุชราต เป็นต้น 


ผู้รอดชีวิตจากเหตุขัดแย้ง เผยว่า อาชญากรรมทางเพศมักเกิดขึ้นเพื่อใช้แก้แค้นผู้อื่น โดยผู้ที่ก่อเหตุมักจะมองว่า การกระทำเหล่านี้ เป็นการสร้างเกียรติยศให้แก่ชุมชนพวกเขา 


“ราคาที่ผู้หญิงต้องจ่ายสำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับร่างกายพวกเธอ มักจะถูกซ่อน และปกปิดไว้ และแม้ว่าการออกมาเคลื่อนไหวของผู้หญิงเหล่านี้ จะดึงดูดให้สังคมหันมาสนใจเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” อนุราชา เชนอย์ อดีตศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยชวาหะร์ลาล เนห์รู ในกรุงนิวเดลี กล่าว

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: Getty Images


ข้อมูลอ้างอิง:

BBC (1)BBC (2)Al JazeeraThe Print


ข่าวที่เกี่ยวข้อง