รีเซต

เกิดอะไรขึ้นที่อินเดีย ปชช.ประท้วงคดีข่มขืนหมอหญิง ปัญหาเรื่องเพศที่แก้ไม่ตกในสังคมโลก

เกิดอะไรขึ้นที่อินเดีย ปชช.ประท้วงคดีข่มขืนหมอหญิง ปัญหาเรื่องเพศที่แก้ไม่ตกในสังคมโลก
TNN ช่อง16
22 สิงหาคม 2567 ( 10:00 )
19

เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก หรือ ครั้งสุดท้าย ที่ผู้หญิงในอินเดียต้องเผชิญ เมื่อความรุนแรงทางเพศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้จะพูดถึงมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ 


ปัญหานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในอินเดียเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ และมีแนวโน้มว่า จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอะไรปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาที่ถูกละเลยในบางสังคม จนชีวิตของผู้หญิงไม่สามารถมีพื้นที่ปลอดภัยได้อีกต่อไป 


---เกิดอะไรขึ้นที่โกลกัตตา--- 


ต้นเรื่องของเหตุการณ์นี้ ต้องย้อนไปในค่ำคืนวันที่ 9 สิงหาคม เมื่อมีคนพบร่างอันไร้ลมหายใจของ “ราธา” (นามสมมติ) แพทย์หญิงวัย 31 ปี ผู้กำลังมีอนาคตสดใสรออยู่ข้างหน้า ในห้องประชุมของโรงพยาบาลของวิทยาลัยแพทยศาสตร์อาร์จีคาร์ ในนครโกลกัตตา


ร่างของเธอเต็มไปด้วยบาดแผลหลายแห่ง และมีร่องรอยการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยก่อนหน้าที่เธอจะเสียชีวิต ราธาอยู่เวรต่อเนื่องมานานถึง 36 ชั่วโมง ก่อนจะเข้าไปนอนพักผ่อนในห้องประชุมของโรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีห้องพักแพทย์ จนกระทั่งมีคนมาพบร่างของเธอในช่วงเช้า 


“ในตอนแรกพ่อแม่ของราธาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า ลูกสาวของพวกเขาฆ่าตัวตาย แต่เมื่อทำการผ่าพิสูจน์ศพอีกครั้ง จึงพบว่า ราธาถูกข่มขืน และฆาตกรรม” วรินดา โกรเวอร์ ทนายความ และนักสิทธิสตรี กล่าวกับสำนักข่าว Al Jazeera 


ขณะที่ พ่อแม่ของราธา เผยว่า พวกเขาไม่อยากเชื่อว่า การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ จะเกิดขึ้นกับลูกสาวของพวกเขา ในขณะที่เธอยังคงอยู่ในที่ทำงาน 


“โรงพยาบาลควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย” พ่อของราธา กล่าว 


ทั้งนี้ ตำรวจได้จับผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง ชื่อว่า “ซันเจย์ รอย” ผู้เป็นอาสาสมัครพลเมือง และเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง โดยตำรวจพบหลักฐานแน่นหนาที่มัดตัวเขา บริเวณร่างของราธา 


แม้จะจับผู้ต้องสงสัยได้ แต่พ่อแม่ของราธาเชื่อว่า ผู้กระทำผิดไม่ได้มีเพียงแค่คนเดียว 


---ชาวอินเดีย-หมอลงถนนประท้วง--- 


จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จุดกระแสความโกรธแค้นให้กับประชาชนทั่วประเทศ เพราะนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้หญิงอินเดียต้องเผชิญกับความโหดร้ายเช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อคดีอันน่าเศร้า เกิดขึ้นกับแพทย์หญิงอนาคตไกล ผู้มีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่ยากจน และถีบตัวเองมาอยู่ในจุดที่จะทำให้ครอบครัวลืมตาอ้าปากได้ ยิ่งทำให้ผู้คนเกิดความสงสาร และความไม่พอใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ทำให้ “ราธา” ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ 


หลังจากเกิดเรื่อง ประชาชน หมอ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโกลกัตตา เดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับราธา ตลอดจนเรียกร้องให้ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยให้แก่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 


สหพันธ์แพทย์ประจำบ้านอินเดีย หรือ FORDA เรียกร้องให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ระงับการให้บริการกับผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษา และให้บรรดาแพทย์นัดหยุดงานประท้วง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อ รวมถึงข้อเรียกร้องอื่น ๆ  มาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา 


หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือ การทำให้ พ.ร.บ. คุ้มครองกลาง มีจุดมุ่งหมายเป็นกฎหมายกลาง เพื่อปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์จากความรุนแรง ซึ่งถูกนำเสนอต่อรัฐสภาเมื่อปี 2022 แต่ว่ายังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ 


การประท้วงได้ลุกลามไปยังกลุ่มสหพันธ์แพทย์ และโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วอินเดีย พวกเขาจะไม่หยุดการประท้วงครั้งนี้ จนกว่าจะปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม 


“การยุติการประท้วงตอนนี้ จะทำให้แพทย์หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม” ดร.ธรุฟ ชัวฮาน สมาชิกเครือข่ายแพทย์รุ่นเยาว์ของสมาคมการแพทย์อินเดีย กล่าวกับสำนักข่าว PTI 

 

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ถอดถอน ผอ.ของวิทยาลัยแพทย์ดังกล่าว ซึ่งลาออกไปหลังเกิดเรื่องได้เพียง 3 วัน แต่กลับถูกแต่งตั้งให้ประจำอยู่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งในโกลกัตตา 


“เราต้องการให้เขาถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่ถูกโยกย้าย และเราต้องการให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษประหาร” ดร.อับดุล วาคิม ข่าน หนึ่งในแพทย์ที่ร่วมประท้วง กล่าวกับสำนักข่าว ANI 


---ปัญหาล่วงละเมิดที่แก้ไม่ตกในอินเดียและโลก--- 


ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในอินเดีย นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี ปัญหานี้กลับไม่ได้รับการคลี่คลาย และคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลายคนต่างหวนนึกถึงคดีที่คล้ายคลึงกันในปี 2012 เมื่อนักกายภาพบำบัดฝึกหัด วัย 22 ปี ถูกรุมข่มขืน และสังหารบนรถเมล์ในกรุงนิวเดลี จุดกระแสให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ ส่งผลให้กฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศมีความเข้มงวดมากขึ้น 

แต่แม้เวลาจะผ่านมานานนับสิบปี คดีข่มขืนในอินเดียกลับไม่ลดลง 


โดยปี 2022 คดีข่มขืนที่ได้รับแจ้งในอินเดียอยู่ที่ 31,516 คดี หรือเฉลี่ยประมาณ 90 คดีต่อวัน เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเมื่อปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 31,677 คดี แต่ถ้าเมื่อเทียบกับปี 2012 ซึ่งอยู่ที่ 24,923 คดี จะพบว่า แนวโน้มคดีข่มขืนในอินเดียไม่มีทีท่าว่าจะลดลง 


ขณะที่ สหประชาชาติ หรือ UN เผยว่า ผู้หญิงทั่วโลก ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ ประมาณ 1 ใน 3 โดยประเทศที่มีอัตราการข่มขืนสูงสุดในโลก คือ แอฟริกาใต้ มีอัตราคดีข่มขืนเฉลี่ยอยู่ที่ 132.4 หรือคิดเป็น 66,196 คดีต่อประชากร 100,000 คน และผู้ชาย 1 ใน 4 ยอมรับว่า เคยกระทำการข่มขืนผู้อื่น 


ทั้งนี้ แม้อินเดียจะไม่ใช่ประเทศที่มีคดีข่มขืนมากที่สุดในโลก แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกมองว่า อันตรายต่อผู้หญิงมากที่สุด และทุกครั้งเมื่อเกิดคดีข่มขืน ทั่วโลกมักจะให้ความสนใจ เพราะว่า ระบบยุติธรรมของประเทศ ไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้กับเหยื่อ บางครั้งกับช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ที่สำคัญ อินเดียยังเป็นประเทศที่มีระบบชนชั้นวรรณะอยู่ แม้จะยกเลิกทางกฎหมายไปนานแล้วก็ตาม 


โกรเวอร์ กล่าวว่า การที่ปัญหาเรื่องคดีล่วงละเมิดทางเพศในอินเดียสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดพอ ไร้มาตรการป้องกันไม่ให้ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษตามความเหมาะสม 


ยกตัวอย่าง กรณีคดีข่มขืนที่เกิดขึ้นในปี 2002 หญิงสาวรายหนึ่ง ถูกชาย 11 คนรุมข่มขืน และพวกเขาถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ต่อมา ในปี 2022 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทำการอภัยโทษให้แก่ชายกลุ่มดังกล่าว ซ้ำยังได้รับการต้อนรับ ด้วยเสียงปรบมือ และพวงมาลัย หลังได้รับการปล่อยตัว ก่อนที่ต่อมา พวกเขาทั้งหมดจะถูกส่งเข้าเรือนจำอีกครั้ง หลังสาธารณชนออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างมาก 


โกรเวอร์ เชื่อว่า โทษประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องข่มขืนที่เกิดขึ้นทั้งหมด จนกว่าอินเดียจะสามารถแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในทุกอณูของสังคมได้ 


“เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย อินเดียจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย, ปิตาธิปไตย, การเลือกปฏิบัติ และความไม่เท่าเทียม ที่ฝังรากลึกอยู่ในบ้านของเรา, ครอบครัว, วัฒนธรรม บรรทัดฐานทางสังคม และประเพณีทางศาสนา” โกรเวอร์ กล่าว 


---ไม่ใช่แค่ที่อินเดีย แต่ไทยก็ยังแก้ไม่ได้---


ปัญหาที่เกิดขึ้นในโกลกัตตา นอกจากคดีล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของแพทย์ในที่ทำงานร่วมด้วย ผลสำรวจจากสมาคมการแพทย์อินเดีย ระบุว่า ในปี 2015 แพทย์มากกว่า 75% ต้องเผชิญกับเหตุความรุนแรง และเมื่อปี 2019 เคยมีกรณีที่แพทย์ถูกรุมทำร้ายร่างกาย หลังคนไข้รายหนึ่งเสียชีวิต จนบุคลากรทางการแพทย์ต้องออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ 


เช่นเดียวกับประเทศไทย บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับความรุนแรงต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศด้วย 


จากบทความ ‘พยาบาล’ ถูกลวนลาม-คุกคามทางเพศอื้อ บนเว็บไซต์ Hfocus ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ ประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรมสาขาการพยาบาล ชี้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับพยาบาลมากที่สุด


“พยาบาลถูกลวนลามและคุกคามทางเพศเป็นประจำ เริ่มตั้งแต่การแทะโลม หรือถึงขั้นดึงตัวเข้าไปกอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากสร้างความหวาดกลัวแล้ว ยังทำให้พยาบาลเกิดความรู้สึกถูกดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีด้วย โดยสิ่งที่สภาการพยาบาลรับอยู่เป็นประจำและอันดับหนึ่งคือพยาบาลถูกลวนลามทั้งทางวาจาและการกระทำ” ประภัสสร กล่าว


ประภัสสร กล่าวต่อไปว่า พยาบาลเป็นคนแรกที่จะต้องรองรับอารมณ์ของคนไข้ เช่น คนไข้อารมณ์ไม่ดีเพราะต้องรอการรักษาเป็นเวลานาน ตรงนี้แพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมต้องรอ ศักยภาพโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ลดระดับความรุนแรงของอารมณ์ลงมาได้


สำหรับประเทศไทย คดีล่วงละเมิดทางเพศ ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคมไทย มูลนิธิปวีณาฯ เผยว่า ในปี 2023 ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคดีข่มขืนและอนาจาร อยู่ที่ 1,038 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2022 8.4% 


ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เปิดเผยว่า ส่วนมากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ มักเป็นเด็กและผู้หญิง และเมื่อย้อนดูสถิติเมื่อปี 2022 พบว่า เด็กอายุ 10-15 ปี ถูกข่มขืนมากที่สุด 381 คน รองลงมาคือ อายุ 15-20 ปี 198 คน และอันดับ 3 คือ เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 10 ปี ถูกข่มขืน 110 คน ซึ่งถือเป็นสถิติที่น่ากังวลมาก 


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.aljazeera.com/news/2024/8/14/what-happened-in-the-kolkata-rape-case-that-triggered-doctors-protests

https://www.hfocus.org/content/2017/11/14958

https://theactive.net/news/public-health-20231228/ 

https://www.statista.com/statistics/632493/reported-rape-cases-india/

https://www.bbc.com/news/articles/c5yl0799k1wo

https://www.theguardian.com/global-development/article/2024/aug/20/india-trainee-doctor-rape-murder-kolkata-hospital-protests-family-justice

https://www.tbsnews.net/world/countries-highest-rape-incidents-144499

ข่าวที่เกี่ยวข้อง