จีนใช้ยานอวกาศเครื่องยนต์ไอออนชาติแรกของโลก !
ตามรายงาน South China Morning Post เว็บไซต์ข่าวของประเทศจีน รายงานว่าสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station) ของประเทศจีนได้เริ่มใช้เครื่องยนต์ไอออนในการขับเคลื่อนขณะอยู่ในวงโคจรรอบโลกแล้ว ซึ่งสถานีอวกาศเทียนกงของจีนนับเป็นยานอวกาศลำแรกของโลกที่มีการใช้เครื่องยนต์ไอออนและถูกควบคุมโดยนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์ (สถานีอวกาศนับเป็นยานอวกาศประเภทโคจรรอบหรือ Orbiter spacecraft)
เครื่องยนต์ไอออนอาจเป็นกุญแจสำคัญในการเดินทางไปเยือนดาวอังคาร
โดยประเทศจีนเล็งพัฒนาเครื่องยนต์ไอออนเพื่อใช้กับยานอวกาศสำหรับส่งนักบินอวกาศไปยังดาวอังคาร ซึ่งยานอวกาศเครื่องยนต์ไอออนจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่ายานอวกาศเครื่องยนต์ทั่วไปถึง 10 เท่า จากเดิมที่จะต้องใช้เชื้อเพลิง 1,000 - 4,000 เมตริกตัน สำหรับการเดินทางไปดาวอังคาร โดยคาดว่ามันจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากโลกไปถึงดาวอังคาร จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 6 - 7 เดือน ให้เหลือเพียง 39 วันเท่านั้น
เครื่องยนต์ไอออนที่ใจกลางของสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station)
สำหรับเครื่องยนต์ไอออนเป็นเครื่องยนต์ใช้พลังไฟฟ้าสร้างไอออนจากแก๊สที่เป็นกลางอย่างแก๊สซีนอน (Xenon) โดยสหภาพโซเวียตเป็นชาติแรกที่บุกเบิกการใช้ระบบเครื่องยนต์ไอออนแบบฮอลล์ เอฟเฟ็ก (Hall-effect) มาตั้งแต่ปี 1971 ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่ประเทศจีนนำมาใช้กับสถานีอวกาศเทียนกงในปัจจุบัน โดยเครื่องยนต์ไอออนจำนวน 4 ตัว ถูกติดตั้งอยู่ที่โมดูลเทียนเหอ (Tianhe module) อันเป็นใจกลางของสถานีอวกาศเทียนกง
ปัจจุบันระบบดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับดาวเทียมมากกว่า 100 ดวง ในวงโคจรรอบโลก แต่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้งานกับยานอวกาศที่ควบคุมโดยมนุษย์ เนื่องจากระบบมีการสึกกร่อนสูง โดยประเทศจีนใช้การติดตั้งสนามแม่เหล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้อนุภาคของซีนอนทำให้เครื่องยนต์สึกกร่อน นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุเซรามิกชนิดพิเศษ เพื่อป้องกันการสึกกร่อนจากรังสีในอวกาศ
นอกจากประเทศจีนแล้ว องค์การนาซา (NASA) จากประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีการทดสอบเครื่องยนต์ไอออนที่ใช้แก๊สซีนอนบนพื้นโลกมาแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งมันสามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่องถึง 48,000 ชั่วโมง ในระยะเวลากว่า 5 ปี ในขณะที่ประเทศจีนเคลมว่าได้ทดสอบเครื่องยนต์ไออนที่ใช้แก๊สซีนอนบนโลกนานติดต่อกันกว่า 8,240 ชั่วโมง ในระยะเวลาเพียง 11 เดือน โดยไม่เสียหาย
ข้อมูลจาก South China Morning Post
ภาพจาก CNSA