รีเซต

ปลูกพืชด้วย "ดินจากดวงจันทร์" ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก !! นำร่องก่อนการสำรวจครั้งใหม่

ปลูกพืชด้วย "ดินจากดวงจันทร์" ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก !! นำร่องก่อนการสำรวจครั้งใหม่
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2565 ( 14:31 )
177
ปลูกพืชด้วย "ดินจากดวงจันทร์" ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก !! นำร่องก่อนการสำรวจครั้งใหม่

การปลูกพืช อาจกลายเป็นสิ่งสำคัญเมื่อนักบินอวกาศต้องออกไปสำรวจยังดาวเคราะห์ต่างแดน ซึ่งพืชเหล่านี้มีประโยชน์ทั้งในการเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ อีกทั้งยังช่วยสังเคราะห์แสงปล่อยแก๊สออกซิเจนได้ด้วย ดังนั้น หากเราสามารถปลูกพืชโดยใช้ดินของดาวเคราะห์ดวงนั้น ๆ ได้ ก็จะกลายเป็นอีกก้าวสำคัญนำไปสู่การสำรวจดวงดาวระยะยาว




นอกจากดาวอังคารที่เป็นเป้าหมายในการสำรวจของนักบินอวกาศ และเคยมีการนำดินจากดาวอังคารมาใช้ในการปลูกพืชแล้ว ดวงจันทร์ก็เป็นอีกหนึ่งในดวงดาวที่นักบินอวกาศจากทั่วโลกให้ความสำคัญ และตั้งมั่นว่าในอนาคตอาจมีการตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการวิจัยต่าง ๆ บนดวงจันทร์ด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะสามารถตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ได้หรือไม่ ? นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา จึงทำการทดลองปลูกพืชด้วยดินจากดวงจันทร์จนประสบผลสำเร็จ !


แอนนา พอล (Anna-Lisa Paul) และ ร็อบ เฟิร์ล (Rob Ferl) ทำการปลูกต้นเธลเครส (Thale Cress หรือ Arabidopsis - พืชในวงศ์เดียวกับต้นมัสตาร์ด) ในดินบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทางนาซาแบ่งปันมาให้ และเป็นดินที่เก็บมาพร้อมภารกิจสำรวจดวงจันทร์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ โครงการอะพอลโล 11, อะพอลโล 12 และอะพอลโล 17 โดยมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 12 กรัม



ที่มาของภาพ University of Florida

 

 


เมล็ดเธลเครสได้รับการดูแลด้วยน้ำและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทุกวัน ไม่นานก็เริ่มมียอดอ่อนของเธลเครสโผล่ขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าดินบนดวงจันทร์สามารถใช้เพาะปลูกได้ ทั้งนี้ เมื่อติดตามการเจริญเติบโตของต้นเธลเครสไปเรื่อย ๆ กลับพบว่าต้นเธลเครสบางส่วนมีการเจริญเติบโตช้าลงเมื่อเข้าสู่วันที่ 6 ของการเพาะปลูก


สาเหตุที่เลือกใช้ต้นเธลเคสในการทดลองนี้ เพราะนักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของพืชชนิดนี้ จึงสามารถศึกษากลไกการแสดงออกของยีนต่าง ๆ ภายในเซลล์ของต้นเธลเครสได้อย่างละเอียด จากการศึกษาลึกลงไปในระดับเซลล์พบว่าสาเหตุที่ต้นเธลเครสเจริญเติบโตช้าลงนั้น เกิดจากความเครียดภายในเซลล์ที่ตอบสนองต่อคุณสมบัติของดินนั่นเอง


ที่มาของภาพ University of Florida

 


ต้นเธลเครสที่ใช้ดินจากโครงการอะพอลโล 11 มีอัตราการเจริญเติบโตช้าที่สุด อันเนื่องมาจากภายในดินมีสารกัมมันตรังสี, ความเค็ม และโลหะเข้มข้นกว่าดินจากภารกิจอื่น เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของดินและรูปแบบการเก็บตัวอย่างของดิน พบว่าโครงการอะพอลโล 11 จะเก็บตัวอย่างดินที่อยู่บริเวณด้านบนสุดของพื้นผิวดาว ดินเหล่านี้จะสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมอันเลวร้ายบนดวงจันทร์ได้มากกว่า อีกทั้งยังได้รับรังสีคอสมิกจากอวกาศมากกว่าเมื่อเทียบกับดินที่อยู่ในชั้นลึกลงไป


นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ดินจากโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งเป็นดินที่อยู่บริเวณผิวชั้นบน ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับดินจากโครงการอะพอลโล 12 และ 17 ที่เก็บตัวอย่างดินในชั้นที่ลึกลงไป


ที่มาของภาพ University of Florida

 


จากข้อมูลเหล่านี้สรุปได้ว่า หากต้องการเพาะปลูกพืชบนดวงจันทร์ ควรใช้ดินจากชั้นที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวหน้าของดวงจันทร์สักเล็กน้อย จะได้เม็ดดินที่มีความปลอดภัยต่อพืชมากกว่า เชื่อว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในโครงการอาร์ทิมิส ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นการปลูกพืชครั้งแรกบนดวงจันทร์ก็เป็นได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง