ประวัติ "วันประมงแห่งชาติ" 21 กันยายน 2566
ประเทศไทย "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว" เป็นประโยคที่เราได้ยินกันอยู่บ่อย ในน้ำมีปลาก็ต้องคู่กับอาชีพประมงที่คอยจับสัตว์น้ำมาให้เราได้เป็นอาหาร และในวันที่ 21 กันยายน ของทุกปีจึงเป็นหนึ่งวันสำคัญของชาวประมง trueID รวบรวมข้อมูลความเป็นมาของ"วันประมงแห่งชาติ"วันสำคัญอีกวันหนึ่งมาให้ทราบกัน
ประวัติ วันประมงแห่งชาติ
ภาพโดย Quang Nguyen vinh จาก Pixabay
วันประมงแห่งชาติ มีที่มาจากสหกรณ์ประมงจังหวัดสมุทรสาครทำหนังสือ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ถึงนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกำหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพ และอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล
นายกรัฐมนตรีจึงได้คำสั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มอบเรื่องต่อให้กับกรมประมงเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากนี้ยังขอให้ราชบัณฑิตยสถานและกรมศิลปากรร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม
จากที่กรมประมงพิจารณาว่า อาชีพการประมงทางทะเลเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละมากมาย อีกทั้งยังต้องเสี่ยงภัยจากอันตรายในน่านน้ำ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ช่วยแจ้งข่าวสารทางทะเลที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อประเทศให้แก่หน่วยงานราชการทราบทันแก่เหตุการณ์ จึงจัดให้มีวันสำคัญวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนอาชีพประมง โดยจัดตั้งวันประมงขึ้น ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
ต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2469 ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการประมงและกรมประมงตามลำดับ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่สนพระทัยในกิจการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาให้แก่ข้าราชการหรือนักเรียนไปศึกษาวิชาเพาะพันธุ์ปลาในต่างประเทศ
กิจกรรม
มีการจัดกิจกรรมด้านการประมงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ เช่น กรมประมง กิจกรรมที่สำคัญเช่น การปล่อยพันธุ์ปลาหายากหรือขยายพันธุ์ได้ยากลงสู่แหล่งน้ำ และวันนี้ยังเป็นที่รู้กันว่าจะมีการหยุดการทำประมง หยุดการหาปลา ทำร้ายและฆ่าปลาหนึ่งวัน และส่งเสริมให้มีการปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งในทะเล เพื่อเป็นการชดเชยสำหรับการที่ได้ทำการประมงมาตลอดปี นอกจากนี้วันที่ 21 กันยายน ทางราชการยังถือว่าเป็น "วันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ" อีกด้วย
รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รู้จัก วันสำคัญ สงกรานต์ไทย ปี64
- วันอีสเตอร์ 4 เมษายน (Easter Day) ประวัติวันอีสเตอร์
- วันเข้าพรรษา 2564 ประวัติความเป็นมา และความสำคัญทางศาสนา
- 'วันต่อต้านยาเสพติดโลก' วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี
- 29 กรกฎาคม วันเสือโคร่งโลก ประวัติ : รู้หรือไม่? เสือ 1 ตัว สำคัญต่อผืนป่า
- วันวิสาขบูชา 2564 : เลือก 'ทำบุญ' แบบนี้...ได้บุญแบบไหน?