รีเซต

รู้จัก วันสำคัญ สงกรานต์ไทย ปี64

รู้จัก วันสำคัญ สงกรานต์ไทย ปี64
TrueID
13 เมษายน 2564 ( 08:12 )
5.1K
รู้จัก วันสำคัญ สงกรานต์ไทย ปี64

สำหรับวันสงกรานต์ปี64 หรือ วันปีใหม่ไทย ที่จะถึงนี้ อาจไม่ได้รับบรรยากาศเหมือนกับปีก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เราสามารถร่วมประเพณีสงกรานต์แบบฉบับประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิม ด้วยการไปกราบไหว้ขอขมาผู้ใหญ่ที่เราเคารพ รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด เท่านี้ก็ถือได้ว่าทำตามประเพณีสงกรานต์แล้ว ซึ่งวันนี้ trueID จะพาทุกท่านไปรู้จักกับวันสำคัญในประเพณีสงกรานต์ไทย ว่ามีวันอะไรกันบ้าง

 

วันมหาสงกรานต์

ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ซึ่งมีความหมายว่า วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่นๆ ครบ 12 เดือน ซึ่งตรงกับวันผู้สูงอายุ เป็นวันที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งวันผู้สูงอายุ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2525 เป็นปีที่ พล.อ.เอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

 

วันเนา

วันเนา คือวันที่อยู่ถัดจากวันมหาสงกรานต์ และอยู่ก่อนวันเถลิงศก กำหนดตามตามปฏิทินจุลศักราช ปัจจุบันมักตกอยู่ในวันที่ 14 เมษายน โดยคำว่า " เนา " เป็นภาษาเขมรแปลว่า " อยู่

 

 

14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" หรือ "วันเน่า" ชาวบ้านเชื่อว่าวันนี้เป็นวันมงคลต้องทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล ห้ามด่าทอ ทะเลาะวิวาทถ้าไม่เช่นนั้นจะพบแต่สิ่งไม่ดีตลอดทั้งปี ตอนสายหน่อยก็เตรียมขนม อาหาร เครื่องไทยทาน เพื่อจะนำไปทำบุญในวันรุ่งขึ้นและในช่วงบ่ายจะมีการขนทรายเพื่อนำไปก่อเจดีย์ทราย 

 

ซึ่งถือเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงฆ์มากดั่งจำนวนเม็ดทรายบ้างก็ว่าทำบุญเพื่อชดใช้กรรมที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ วันเนา วันเนาว์ หรือ วันเน่า 

 

ในแง่ของโหราศาสตร์แล้ว วันนี้ควรจะเรียกว่า วันเนา เพราะเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนและราศีเมษ อันเป็นวันที่ถัดจากวันสังกรานต์ล่อง แต่ในการออกเสียงแล้วทั่วไปมักเรียก"วันเน่า" ทำให้เกิดความคิดที่ห้ามการกระทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล 

 

โดยเฉพาะห้ามการด่าทอทะเลาะวิวาทกัน กล่าวกันว่าผู้ใดที่ด่าทอผู้อื่นในวันนี้แล้ว ปากของผู้นั้นจะเน่า และหากวิวาทกันในวันนี้ บุคคลผู้นั้นจะอัปมงคลไปตลอดปี ส่วนผู้ประสงค์จะปลูกเรือนด้วยไม้ไผ่ ก็ให้รีบตัดในวันนี้ เพราะเชื่อกันว่าไม้จะ"เน่า"และไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว 

 

วันเนานี้จะเป็นวันเตรียมงาน ชาวบ้านจะพากันไปซื้อของเพื่อกินและใช้ในวันพญาวัน เมื่อถึงตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด กองรวมกันทำเป็น การขนทรายเข้าวัดนี้ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัดซึ่งเสมอกับได้ลักของจากวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันดา เพราะเป็นวันที่ ดา หรือจัดเตรียม สิ่งของต่างๆ จะใช้ทำบุญนั่นเอง

 

วันครอบครัว

สำหรับที่มาของวันครอบครัวนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดย สุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้เสนอ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันครอบครัวทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ใช้คำว่า "Family day" สำหรับวันแห่งครอบครัว

 

 

จุดประสงค์หลักก็เพื่อมุ่งหวังให้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ดั้งเดิม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจบ้านเมือง เป็นวันที่ควรทำพิธีรดน้ำดำหัว ขอพร ผู้หลักผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครูบาอาจารย์ ผู้ที่เคารพนับถือ

 

ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา เราควรทำเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานได้เห็น เพื่อให้เขาได้ซึมซับวัฒนธรรมที่ดี และส่งต่อถ่ายทอดไปสู่รุ่นถัดไป

 

การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากคณะกรรมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลจาการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามมาเป็นอันมาก

 

ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดอาชญากรรม และปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัว ที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว อีกทั้งลักษณะวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

 

สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนลูก  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วน แต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม

 

ครอบครัวนั้นเป็นสถาบันพื้นฐานและเป็นสถาบันแรกที่มีความสำคัญยิ่งของสังคม ทำหน้าที่หล่อหลอมสมาชิกด้วยการอบรมเลี้ยงดู ให้ความรัก ความอบอุ่น ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนถ่ายทอดวัฒนธรรม เพื่อให้สมาชิกของครอบครัวเติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคม

 

ความรักในครอบครัวเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งต่อสัจธรรมที่ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีสุข” เมื่อไรที่พบกัน ให้ความรักต่อกัน ให้ความเข้าใจกัน มีปัญหาใดๆ ก็ให้อภัยกันด้วยความรัก ครอบครัวก็เป็นสุข เรื่องนี้สำคัญ และเป็นสัจธรรมที่พิสูจน์ได้ง่ายๆ การใช้เวลาอยู่ร่วมกันนั้น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกๆ คนในครอบครัวควรคิดคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา เพราะการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน คือการสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวได้อย่างดี ช่วยทำให้มีความรักความผูกพันกันมากยิ่งขึ้น

 

วันผู้สูงอายุ

ในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า " ผู้สูงอายุ " ไว้ดังนี้

 

 

 

 

ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา

 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยกำหนดคำขวัญว่า Add life to years เพื่อให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทย ว่า " ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน

 

รัฐบาลในสมัยนั้น (พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ

 

 

สาเหตุที่เลือกดอกไม้นี้ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป นอกจากนั้นทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นไม้นี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

 



ที่มา : ครูบ้านนอก  , กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและสสส

ภาพโดย poppypop จาก Pixabay 

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay 

ภาพโดย Tri Le จาก Pixabay 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง