รู้จักความดันโลหิต ระดับที่เหมาะสม และความดันโลหิตสูงมีค่าเท่าไหร่?
หลายคนที่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนฉีดเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะเอาเครื่องมือวัดความดันมาวัดระดับความดันของเรา ซึ่งถ้าค่าสูงเกินไปก็จะไม่อนุญาตให้เราฉีดวัคซีน รู้ไหมว่าความดันโลหิตปกติคือค่าอะไร วันนี้ trueID รวบรวมข้อมูลของความดันโลหิตว่าค่าปกติคือเท่าไหร่ และโรคความดันโลหิตสูงมีค่าเท่าไหร่?
ความดันโลหิตคืออะไร?
ความดันโลหิต เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเต็มที่
- ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวเต็มที่
ความดันโลหิตสูงคืออะไร?
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น
จุดมุ่งหมายในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
เพื่อลดอัตราการเกิด ทุพพลภาพและเสียชีวิต ของผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยค่าความดันโลหิตเป้าหมายในการรักษา คือ
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั่วไป ควรมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
ตัวบน 120 – 130 มิลลิเมตรปรอท
ตัวล่าง 70 – 79 มิลลิเมตรปรอท
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีเบาหวานหรือไตเสื่อมร่วมด้วย ควรมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท
วิธีการวัดความดันโลหิตที่บ้าน
1. ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที
2. ก่อนทำการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย
3. นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้างวางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต
4. วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
5. ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุย หรือขยับตัว
ในการวัดค่าความดันโลหิตแต่ละครั้งควรใช้วิธีการวัดให้ถูกต้อง พร้อมจดบันทึกตัวเลขค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างรวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจในสมุดประจำตัวผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยวัดค่าความดันโลหิตอย่างน้อยวันละ 2 ช่วงเวลา ได้แก่
- ช่วงเช้า วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 - 2 นาที ภายใน 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิต
- ช่วงก่อนเย็น วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 - 2 นาที
อาการของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่บางรายพบว่ามีอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง และเหนื่อยง่ายผิดปกติ ซึ่งหากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ แต่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายถูกทำลาย ได้แก่ หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และตา เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานไม่เป็นปกติ และหากถูกทำลายอย่างรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
1. ลดน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน
2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรจำกัดปริมาณให้น้อยกว่าวันละ 1 แก้ว
4. งดสูบบุหรี่
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การเกิดภาวะแทรกซ้อนแบ่งได้ 2 กรณี คือ
1. ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง เช่น หัวใจวาย
2. ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดตีบหรือตัน
- หากเกิดบริเวณหลอดเลือดหัวใจ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังหรือเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
- หากเกิดที่บริเวณหลอดเลือดในสมอง จะทำให้หลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน และอาจทำให้เป็นอัมพาต
- หากเกิดบริเวณไต อาจทำให้ไตวายได้
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งเรื่องการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย และการปรับพฤติกรรมให้มีสุขภาพดี เช่น งดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ เป็นต้น สามารถช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และช่วยลดความดันโลหิตได้
ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
1.ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติ
โดยค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 กิโลกรัมต่อเมตรกำลังสอง หรือรักษาระดับเส้นรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (ในผู้ชายน้อยกว่า 90 เซนติเมตรหรือ 36 นิ้ว ส่วนผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตรหรือ 32 นิ้ว หรือวิธีการคำนวณอย่างง่ายไม่เกินส่วนสูง (เซนติเมตร) หารสอง)
ตัวอย่างการคำนวณ เช่น ผู้ป่วยน้ำหนัก 65 กิโลกรัม ส่วนสูง 155 เซนติเมตร
คำนวณดัชนีมวลกาย = 65 ÷ (1.55 x 1.55) = 27.05 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ในกรณีที่มีน้ำหนักตัวเกิน การลดน้ำหนักลงร้อยละ 5 ของน้ำหนักตั้งต้นขึ้นไปจะส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงเทียบเท่ากับยาลดความดันโลหิต 1 ชนิด
2.การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy diet)
ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ โดยใช้หลักการ อาหารจานสุขภาพ (Plate method) หรือ ทฤษฎี 2:1:1 “ผัก 2 ส่วน : ข้าว 1 ส่วน : เนื้อสัตว์ 1 ส่วน” การรับประทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และใยอาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้
3.จำกัดโซเดียมในอาหารน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม เทียบเท่าเกลือแกง 1 ช้อนชา)
ข้อมูล : กองโรคไม่ติดต่อ , มหาวิทยาลัยมหิดล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ฝนตกหลายพื้นที่ ระวังป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู
- เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว! เมื่อทำงานหนักเกินไปอาจเสี่ยงเป็น 'โรคคาโรชิ' ได้
- ทำความรู้จัก! หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการป่วยของ หนุ่ม กรรชัย โรคอันตรายที่ต้องระวัง
- เช็กอาการ “โรคหูดับ” จากการกิน “หมูดิบ” ที่คอปิ้งย่างต้องระวัง!
- รู้จัก โรคกินไม่หยุด Binge eating disorder โรคที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจ
- รับมือกับ "โรคซึมเศร้า" ด้วยตัวเอง