รีเซต

เช็กอาการ “โรคหูดับ” จากการกิน “หมูดิบ” ที่คอปิ้งย่างต้องระวัง!

เช็กอาการ “โรคหูดับ” จากการกิน “หมูดิบ” ที่คอปิ้งย่างต้องระวัง!
Ingonn
23 มิถุนายน 2564 ( 11:52 )
321
เช็กอาการ “โรคหูดับ” จากการกิน “หมูดิบ” ที่คอปิ้งย่างต้องระวัง!

 

แค่คีบตะเกียบติด “หมูดิบ” เสี่ยงเสียชีวิตด้วย “โรคหูดับ” จะกินอะไรก็ต้องระวังมากขึ้นเพราะแค่กินของดิบชีวิตก็ดับได้ทันที จากกรณีพบผู้เสียชีวิตโดยโรคไข้หูดับ ที่ จ.พิษณุโลก โดยผู้เสียชีวิตได้เป็นผู้หั่นหมู และมีแผลที่มือ ก่อนจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน จึงนำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมาเพราะร่างกายไม่ตอบสนองและไตไม่ทำงาน แพทย์จึงนำเลือดส่งตรวจผลยืนยันว่าเป็นโรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือโรคไข้หูดับ

 

 

วันนี้ TrueID จึงพาทุกคนมารู้จักภัยใกล้ตัวจากการกินอาหารสุกๆดิบๆ หรือดิบไปเลย โดยเฉพาะพวกเนื้อหมู ที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรียและเป็น “โรคหูดับ” จนถึงแก่ชีวิตได้

 

 


โรคไข้หูดับ หรือโรคหูดับ เกิดจากอะไร


เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ฝังอยู่ในต่อมทอนซิลของหมู แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือ ป่วย โรคจะไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้จะเพิ่มจำนวน และทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้หมูป่วย และตายได้

 

 

 

โรคไข้หูดับ หรือโรคหูดับ สามารถติดต่อร่างกายมนุษย์ได้ 2 ทาง 


1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 


2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตาที่มีเชื้ออยู่ หลังรับประทานเนื้อหมู หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย 3-5 วัน 

 

 

 

กลุ่มเสี่ยงเป็น “โรคหูดับ”


ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

 

 


อาการของผู้ป่วย “โรคหูดับ”


ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายใน 3 วันจะมีอาการ ดังนี้

 

1.มีไข้สูง


2.ปวดเมื่อยตามตัว


3.ปวดศีรษะ


4.เวียนศีรษะ


5.ปวดตามข้อ


6.มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง


7.ซึม


8.คอแข็ง


9.ชัก


10.มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก

 


 

เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และ กระแสเลือด


1.ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ


2.ข้ออักเสบ


3.ม่านตาอักเสบ

 

 
และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม จึงทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และ ปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่ง หูหนวก เวียนศีรษะ และ เดินเซตามมาได้

 

 

อาการทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้ และ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียการได้ยิน และ อาจชีวิตในเวลาต่อมา

 

 

อาหารเสี่ยง “โรคหูดับ”


หากนำเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้านมารับประทานดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อโรคหูดับ หรือโรคติดเชื้อ สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้

 

 

 

การป้องกัน “โรคหูดับ” ที่ต้องรู้


1.รับประทานเนื้อหมูที่สุก อย่ากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ


2.ไม่กินหมูป่วย หรือ หมูที่ตายจากโรค และ ควรเลือกบริโภคหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน


3.ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ


4.การบริโภคอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ไม่ควรใช้ตะเกียบที่คีบหมูดิบมาหยิบอาหารใส่ปากเด็ดขาด ควรใช้แยกกัน


5.ปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนอยู่เสมอ


6. ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน


7.หากเป็นคนที่ต้องสัมผัสหมูในฟาร์ม หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ขายหมู ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ


8.ล้างมือ ล้างเท้า หรือ อาบน้ำให้สะอาดหลังสัมผัสหมูหรือเนื้อหมูดิบ


9.หากมีบาดแผลที่มือก็เลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูน้ำเลือด หากมีการสัมผัสให้ล้างทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด


10.กำจัดเชื้อจากฟาร์ม ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูที่เลี้ยงป่วย

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก สสส. , โรงพยาบาลสินแพทย์

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง