รีเซต

NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway

NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway
TNN ช่อง16
3 กรกฎาคม 2566 ( 18:52 )
110
NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway

นับได้ว่านี่คือยุคทองของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ล่าสุด ไม่ได้ถูกจำกัดการใช้งานไว้แค่บนโลกแล้ว โดยนาซา (NASA) เตรียมพัฒนาเอไอสำหรับใช้กับลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) ที่จะสร้างให้โคจรรอบดวงจันทร์ภายในปี 2024 ซึ่งเอไอจะสามารถตอบโต้กับนักบินอวกาศได้และมีการเชื่อมต่อสื่อสารกันคล้ายกับแชตจีพีที (ChatGPT)


สำหรับ ลูนาร์ เกตเวย์ เป็นสถานีอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฐานและจุดแวะของนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์และสถานที่อื่น ๆ ในอวกาศที่ไกลออกไป โดยมันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์เทมิส (Artemis Program) โครงการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี 


โดยเหตุผลที่นาซาต้องการนำเอไอมาใช้กับลูนาร์ เกตเวย์ เนื่องจากปัญหาการสื่อสารล่าช้าระหว่างโลกและดวงจันทร์ ซึ่งมีความล่าช้าราว 5 - 20 นาที ส่งผลให้ในกรณีฉุกเฉิน นักบินอวกาศบนลูนาร์ เกตเวย์จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากสถานีภาคพื้นดินได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเอไอตัวนี้จะถูกนำไปงานหลัก 2 อย่าง คือ 


1. เป็นผู้ช่วยให้กับนักบินอวกาศในการควบคุมลูนาร์ เกตเวย์

2. ทำหน้าที่ควบคุมลูนาร์ เกตเวย์ในกรณีที่ไม่มีนักบินอวกาศประจำอยู่บนนั้นและในกรณีที่ไม่มีการควบคุมจากสถานีภาคพื้นดิน (Ground Station)


ประสานการทำงานของเอไอ (AI) เข้ากับระบบนิเวศของลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) 


ยกตัวอย่างการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เช่น กรณีที่ลูนาร์ เกตเวย์ถูกขยะอวกาศพุ่งชนจนเกิดความเสียหาย เอไอจะทำการประมวลผลความเสียหาย, ปิดประตูโมดูลที่เสียหาย ไปจนถึงแจ้งเตือนการอพยพให้กับนักบินอวกาศทราบ เนื่องจากการรอคำสั่งจากทีมภาคพื้นดินในกรณีอันตรายแบบนี้ เวลาเพียงแค่ 5 นาที ก็อาจทำให้นักบินอวกาศอพยพไม่ทัน


นอกจากนี้ นาซายังตั้งเป้าให้เอไอมีความสามารถในการตรวจสอบความเสียหายของลูนาร์ เกตเวย์ได้เองแบบอัตโนมัติและจะช่วยแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงให้กับนักบินอวกาศทราบ รวมถึงจะช่วยแก้ปัญหาในกรณีลูนาร์ เกตเวย์ประสบปัญหาออฟไลน์หรือปัญหาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์



อย่างไรก็ตาม นาซาวางแผนที่จะเชื่อมการทำงานของเอไอเข้ากับยานอวกาศโอไรออน (Orion) ที่นักบินอวกาศจะใช้เดินทางจากโลกเพื่อไปเทียบท่ายังลูนาร์ เกตเวย์, ยานอวกาศสตาร์ชิป เฮทแอลเอส (Starship HLS) ที่ใช้สำหรับลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์, สถานีภาคพื้นดินบนโลกและระบบย่อยต่าง ๆ เพื่อให้เอไอสามารถทำงานได้อย่างครอบคลุม


โดยข้อควรระวังของการพัฒนาเอไอตัวนี้ ก็คือมันจะต้องไม่มีข้อผิดพลาดเลย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในด้านควบคุมลูนาร์ เกตเวย์ หรือการให้คำแนะนำกับนักบินอวกาศ นั่นแปลว่าทีมเจ้าหน้าที่ของนาซาจะต้องรวบรวมฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก ๆ เพื่อใช้สำหรับการฝึกเอไอให้มีความแม่นยำสูง ซึ่งอาจทำให้การพัฒนากินเวลานาน

ลูนาร์ เกตเวย์จะทำงานคล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) 

ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 นาซามีแผนส่งโมดูลตั้งต้นของลูนาร์ เกตเวย์ จำนวน 2 โมดูล โดยจะใช้จรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX)


โดยมูลค่าทั้งหมดตั้งแต่การสร้างโมดูลไปจนถึงการส่งโมดูลไปโคจรรอบดวงจันทร์ มีมูลค่าประมาณ 331.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตจะมีการส่งโมดูลเพิ่มเติมขึ้นไปเชื่อมต่อ เพื่อขยายความสามารถในการใช้งานและจะทำให้มันมีขนาดใหญ่กว่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ถึง 6 เท่า โดยสถานีอวกาศนานาชาติมีพื้นที่อยู่อาศัยขนาด 388 ตารางเมตร


ในส่วนของการใช้งาน ลูนาร์ เกตเวย์จะทำหน้าที่คล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติ นอกจากจะเป็นทางเชื่อมให้นักบินอวกาศได้แวะพักเพื่อเดินทางไปยังสถานที่อื่นไกล ๆ ยังเป็นที่อยู่อาศัยและทำงานทดลองด้านวิทยาศาสตร์ของนักบินอวกาศอีกด้วย

ข้อมูลและภาพจาก NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง