รีเซต

รวมพระบรมฉายาลักษณ์ เจ้าชายฟิลิป-เอลิซาเบธที่ 2 ตำนานรัก 7 ทศวรรษ

รวมพระบรมฉายาลักษณ์ เจ้าชายฟิลิป-เอลิซาเบธที่ 2 ตำนานรัก 7 ทศวรรษ
TNN World
19 เมษายน 2564 ( 16:39 )
177

 

ตำนานรัก 7 ทศวรรษโลกจำ

 


การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ด้วยพระชนมายุ 99 พรรษา ทำให้ทั้งโลกต่างเศร้าและอาลัย 
แต่คงไม่มีผู้ใดโทมนัสหนักเท่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงเป็นคู่ชีวิตกันมากว่า 70 ปี...เรียกได้ว่า ความรักของสองพระองค์เป็นตำนานรักที่โลกต้องจารึก

 

When a boy meets a girl…

 


เมื่อเอลิซาเบธแห่งยอร์ก ทรงพบเจ้าชายฟิลิปครั้งแรก พระองค์ไม่ได้ประสงค์จะขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ เธออายุเพียง 7 พรรษาเท่านั้น และทรงเป็นเพื่อนเจ้าสาวให้พระมาตุจฉา (น้า) เจ้าหญิงมารินาแห่งกรีซและเดนมาร์ก

 


ส่วนเจ้าชายฟิลิป ขณะนั้น อายุ 12 ปี เข้าร่วมพิธีเสกสมรสพิธีเดียวกันในฐานะพระญาติ 

 


แต่สื่อมวลชนขณะนั้น เริ่มประโคมข่าวแล้วว่า เจ้าชายฟิลิปทรงเหมาะสมเป็นพระสวามีของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ

 


และต่อมาไม่นาน ข่าวนั้นก็เป็นจริง เหตุการณ์เล็ก ๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญนี้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นจริง ๆ ของตำนานรัก 7 ทศวรรษ ระหว่างเจ้าชายฟิลิป และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 


รักแรกพบ?

 


เจ้าชายฟิลิป และเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงพบกันอีกครั้งในปี 1939 แต่ด้วยสถานะที่เปลี่ยนไป พระบิดาของเจ้าหญิงฯ ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์ และพระองค์ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 

 


ส่วนเจ้าชายฟิลิป เป็นนักเรียนเตรียมทหาร ที่วิทยาลัยราชนาวีบริแทนเนียในเมืองดาร์ตมัธ หลังราชวงศ์ของพระองค์ถูกเนรเทศออกจากกรีซ ภายหลังการรัฐประหาร

 


ส่วนยุโรปนั้น ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้ปะทุ

 


ทั้งคู่พบกันที่วิทยาลัยราชนาวีฯ ขณะที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมทั้งพระราชธิดาพระองค์โตคือเจ้าหญิงเอลิซาเบธในวัย 13 พรรษา เสด็จเยี่ยมชม 

 


BBC ระบุว่า เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นผู้นำเสด็จเจ้าหญิงเอลิซาเบธทอดพระเนตรทั่วบริเวณวิทยาลัย ซึ่งได้สร้างความประทับใจแก่เจ้าหญิงผู้ทรงเป็นรัชทายาทอย่างยิ่ง

 


เจ้าชายฟิลิป - ‘พระอุปนิสัยโผงผาง’

 


ในช่วงสงคราม เจ้าชายฟิลิปทรงพระหัตถเลขาถึงเจ้าหญิงเอลิซาเบธอย่างสม่ำเสมอ ถึงขั้นให้เสด็จประทับร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตำหนักของพระองค์ เพื่อเฉลิมฉลองคริสต์มาสในปี 1943 เวลานั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระชนมายุ 17 พรรษา 

 


เจ้าชายฟิลิปทรงสนพระทัยเจ้าหญิงฯ มาก เอ่ยชมว่า ‘ไม่เพียงสง่างามแต่มีความเฉียบแหลม แต่ก็ร่าเริงและเป็นพูดจริงทำจริง’
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สื้นสุด เจ้าชายฟิลิปทรงเดินหน้าความสัมพันธ์กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธอย่างจริงจัง ทรงพาไปคอนเสิร์ต และร้านอาหารบ่อยครั้ง

 


ส่วนในสำนักพระราชวังอังกฤษนั้น เริ่มพูดถึงเจ้าชายฟิลิป แต่ในทางไม่ดีว่ามี ‘พระอุปนิสัยโผงผาง’ และทรง ‘ไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย’ พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ทรงจับจ้องพื้นเพของเจ้าชายฟิลิป ที่เชื่อมโยงกับชาวเยอรมนี และตรัสเรียกเจ้าชายฟิลิปเชิงเหยียดเชื้อชาติว่า “พวกเยอรมัน” สะท้อนถึงความขมึงเกลียว แม้สงครามโลกจะสิ้นสุดลง

 

 

ละทิ้งยศฐา...เพื่อความรัก

 


แต่ไม่ว่าใครจะพูดมาดร้ายเพียงใด เจ้าหญิงเอลิซาเบธไม่สนพระทัย ตั้งมั่นในความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเจ้าชายฟิลิป

 


ศาสตราจารย์เคท วิลเลียม นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของ CNN ระบุว่า “เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงสนพระทัยและหลงรักเจ้าชายฟิลิปตั้งแต่พบกันที่โรงเรียนราชนาวีฯ แล้ว ในวัย 13 ชันษา”

 


ในที่สุด พระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงประทานอนุญาติให้เจ้าชายฟิลิปอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ในที่สุด แต่ก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 นั้น เจ้าชายฟิลิปต้องทรงสละสัญชาติกรีซและพระฐานันดรในราชวงศ์กรีซเสียก่อน เพื่อทรงเข้าเป็นพลเมืองอังกฤษ 

 


กล่าวได้ว่า เจ้าชายฟิลิปทรงสละพื้นเพเดิม ฐานันดรเก่า ยอมเปลี่ยนสัญชาติ เพื่อทรงเคียงคู่กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ โดยในช่วงแรก ทรงใช้นามสกุล "เมาท์แบตเทน" ตามพระญาติฝ่ายพระมารดา แต่ก่อนวันอภิเษกสมรสหนึ่งวัน พระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้พระราชทานพระยศ His Royal Highness แก่เจ้าชายฟิลิป และทรงแต่งตั้งให้เป็นดยุกแห่งเอดินบะระ เอิร์ลแห่งเมอเรียนเนธและบารอนกรีนิช ในวันต่อมา (ขอบคุณข้อมูลจาก BBC Thai)

 

 


จากเจ้าหญิงสู่ราชินี

 


การสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 สร้างความตื่นตระหนกพระทัยต่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าชายฟิลิปมาก แม้พระวรกายของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงไม่สู้ดีมาหลายปีแล้ว ทั้งที่มีพระชนมายุยังไม่มาก เพียง 56 พรรษา

 


เจ้าชายฟิลิปและเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงหวังว่าจะมี ‘เสรีภาพ’ ต่อไปอีกหลายปี และทรงชีวิตคู่ที่ไม่อยู่ในกรอบให้มากอีกพักหนึ่ง
แต่ ‘เสรีภาพ’ เหล่านั้นหายไป เมื่อกษัตริย์อังกฤษสวรรคต เจ้าชายฟิลิปแจ้งข่าวสำคัญแก่พระชายาด้วยว่า “บัดนี้ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว” 

 


ทั้งสองพระองค์ที่เสด็จประพาสอยู่ในเคนยา เสด็จกลับกรุงลอนดอนในทันที 

 


ครอบครัวของพระองค์ทรงย้ายจากพระตำหนักคลาเรนซ์ เข้าประทับที่พระราชวังบักกิงแฮม เจ้าชายฟิลิปทรงสละตำแหน่งผู้บังคับการเรือรบ อันเป็นอาชีพที่ทรงรักมาก เพื่อทรงเคียงข้างพระชายา

 

 


ใจสลายเรื่อง...ราชสกุล

 


เจ้าชายฟิลิปทรงเชื่อมาเสมอว่าพระราชโอรสธิดา ควรใช้ชื่อสกุล “เมาท์แบตเทน” ของพระองค์ แต่สมเด็จพระราชินีนาถฯ พระชายา ไม่เปลี่ยนพระทัยประสงค์ให้พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ใช้ราชสกุล “วินเซอร์”

 


ความเสียพระทัยของเจ้าชายฟิลิปที่มิอาจเปลี่ยนพระทัยพระชายา ทั้งที่พระองค์ทรงสละหลายสิ่งหลายอย่างมามาก จนตรัส (โพล่ง) ออกมาว่า “เราเป็นเพียงตัวอะมีบาเท่านั้น” เพราะไม่อาจให้ลูกใช้นามสกุลของตนได้

 


ชัยชนะเล็ก ๆ ของเจ้าชายฟิลิป คือการที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงรับสั่งว่า พระโอรส พระนัดดา ที่ไม่ทรงพระยศเจ้าชาย หรือ Royal Highness สามารถใช้ชื่อสกุล “เมาท์แบตเทน-วินเซอร์” ได้

 


ปัญหาสารพันที่ต้องเผชิญ

 


บาดหมางในบางเรื่อง ขณะที่ สองพระองค์ต้องเผชิญกับวิกฤตมากมายที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์วินเซอร์ อาทิ

 


- การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา ที่ทำให้ความนิยมของราชวงศ์ต่อพสกนิกรเสื่อมถอยลงอย่างมาก
- การแบ่งแยกภายในพระบรมวงศานุวงศ์และนักการเมืองอังกฤษ ที่เปรียบโครงการในพระดำริของเจ้าชายฟิลิป โดยเฉพาะ Duke of Edinburgh Awards ว่าคล้ายกับแนวความคิดของ “ฮิตเลอร์ในสมัยหนุ่ม”
- ข่าวอื้อฉาวที่เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรส ทรงเป็นสหายใกล้ชิดกับเจฟฟรีย์ เอปสไตน์ มหาเศรษฐี ที่เป็นผู้ต้องหาล่วงละเมิดทางเพศ 
- การถอนตัวจากเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน มาร์เคิล และย้ายไปประทับในสหรัฐฯ รวมถึงเมื่อไม่นานมานี้ ได้ประทานสัมภาษณ์พิเศษ โดยตรัสถึงปัญหาต่าง ๆ ในราชวงศ์อังกฤษ และการเหยียดเชื้อชาติในเชื้อพระวงศ์ด้วย

 


ตำนานรักที่โลกไม่ลืม

 


ศาสตราจารย์เคท วิลเลียม นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของ CNN กล่าวว่า

 


“แม้ลุ้มลุกคลุกคลาน แต่ดยุกแห่งเอดินบะระ ยืนยันเคียงคู่สมเด็จพระราชินีตลอด ควีนเป็นกษัตริย์ที่ทรงสมรสยาวนานที่สุด ส่วนดยุกฯ ทรงเป็นพระราชสวามีที่ยาวนานที่สุดในโลก ด้วยพระชนมายุ 99 พรรษา พระองค์มีพระชนม์ชีพยาวนานกว่าพระบรมวงศานุวงศ์คนใด ๆ ของควีนวิกตอเรีย”

 


“การทรงเป็นบุรุษผู้ชาญฉลาดและตื่นตัว มันไม่ง่ายเลยที่เจ้าชายฟิลิปต้องทรงก้าวตามหลังควีน 1 ก้าวเสมอ”

 


“แต่ดยุกแห่งเอดินบะระทรงไม่ย่อท้อ ฟันฝ่าอุปสรรคอย่างสง่างามและทรงพระเกียรติ ยืนหยัดเคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถ”
และเหมือนที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ตรัสถึงพระราชสวามีระหว่างพระราชพิธีพัชราภิเษก ปี 2012 ว่า

 


“เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นพลังและเข็มทิศชี้นำพระองค์มาเสมอ”

 

 

 

 

 

 


เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: AFP, Reuters, Royal Family

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง