รีเซต

พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร

พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร
ข่าวสด
9 เมษายน 2564 ( 22:25 )
188
พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ทรงเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางในหมู่พสกนิกรและนานาประเทศ เนื่องมาจากการที่ทรงยืนหยัดเคียงข้างและร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง องค์พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลายาวนาน แม้ฐานันดรศักดิ์ "พระราชสวามี" ที่ทรงได้รับนั้น จะไม่มีบทบาทตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีผู้ใดที่จะใกล้ชิดและมีความสำคัญต่อสมเด็จพระราชินีนาถยิ่งไปกว่าพระองค์อีกแล้ว

 

ทรงเผชิญความลำบากในวัยเยาว์

เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซประสูติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1921 ที่เกาะคอร์ฟู พระบิดาคือเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซ พระโอรสในกษัตริย์จอร์จที่หนึ่งแห่งกรีซ ส่วนพระมารดาคือเจ้าหญิงอลิซแห่งแบตเทนเบิร์ก พี่สาวของลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน เอิร์ลเมาท์แบตเทนที่หนึ่งแห่งพม่า

 

หลังเกิดเหตุปฏิวัติในกรีซเมื่อปี 1922 พระบิดาของเจ้าชายฟิลิปทรงถูกเนรเทศและจำต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับยังฝรั่งเศส เล่ากันว่าพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นพระญาติ ได้ส่งเรือรบอังกฤษมารับพระราชวงศ์กรีซเพื่อนำเสด็จออกนอกประเทศ โดยในครั้งนั้นเจ้าชายฟิลิปซึ่งยังทรงเป็นทารกต้องบรรทมมาในกล่องที่ใช้บรรจุส้มตลอดเส้นทาง

 

เจ้าชายฟิลิปทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาในวัยเยาว์ที่ฝรั่งเศส แต่เมื่อพระชนมายุได้ 7 ชันษา ทรงย้ายมาประทับที่สหราชอาณาจักรภายใต้การดูแลของพระญาติฝ่ายพระมารดาที่หันมาใช้นามสกุลเป็นแบบอังกฤษว่า "เมาท์แบตเทน" ต่อมาทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนประจำกอร์ดอนสตูนในสกอตแลนด์ ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความเข้มงวดและเน้นการฝึกฝนให้นักเรียนมีนิสัยเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ นับว่าเหมาะกับเจ้าชายฟิลิปซึ่งในขณะนั้นทรงต้องแยกจากพระบิดาและพระมารดา ทั้งต้องทรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่

 

สู่เส้นทางอาชีพนายทหารเรือ

ขณะที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะปะทุขึ้น เจ้าชายฟิลิปได้ตัดสินพระทัยที่จะดำเนินรอยตามพระญาติทางฝ่ายพระมารดาหลายพระองค์ในเส้นทางอาชีพทหารเรือ โดยทรงเข้าศึกษาที่วิทยาลัยราชนาวีบริแทนเนียในเมืองดาร์ตมัธ ซึ่งที่แห่งนี้เองได้ทำให้พระองค์ทรงมีโอกาสเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมทั้งพระราชธิดาพระองค์โตคือเจ้าหญิงเอลิซาเบธในวัย 13 พรรษา โดยเจ้าชายฟิลิปทรงเป็นผู้นำเสด็จเจ้าหญิงเอลิซาเบธทอดพระเนตรทั่วบริเวณวิทยาลัย ซึ่งได้สร้างความประทับใจแก่เจ้าหญิงผู้ทรงเป็นรัชทายาทอย่างยิ่ง

 

Getty Images
เจ้าชายฟิลิป (นั่ง) ขณะศึกษาที่โรงเรียนประจำกอร์ดอนสตูนในสกอตแลนด์

 

เจ้าชายฟิลิปทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยราชนาวีด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมเป็นอันดับหนึ่งของรุ่นในปี 1940 จากนั้นได้เข้าประจำการในกองทัพเรืออังกฤษ โดยร่วมออกปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกในมหาสมุทรอินเดีย ต่อจากนั้นทรงย้ายไปประจำการในเรือรบ HMS Valiant สังกัดกองเรือเมดิเตอร์เรเนียน และได้เข้าร่วมรบในสมรภูมิแหลมมาตาปาซ (Cape Matapan) ทางตอนใต้ของกรีซเมื่อปี 1941 ด้วย ในปีต่อมาเจ้าชายฟิลิปทรงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการเรือรบที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งแห่งราชนาวีอังกฤษ โดยประจำการในเรือพิฆาต HMS Wallace

 

Getty Images
เจ้าชายฟิลิปทรงมีอาชีพในกองทัพเรือที่โดดเด่น

 

อภิเษกสมรส

ในระหว่างที่เจ้าชายฟิลิปทรงประจำการในกองทัพเรือนั้น พระองค์และเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้มีพระหัตถเลขาถึงกันอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพระองค์คืบหน้าไปจนถึงขั้นที่เจ้าชายฟิลิปทรงได้รับเชิญให้เสด็จประทับร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ในหลายโอกาส แม้จะมีข้าราชสำนักบางคนแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่าเจ้าชายฟิลิปนั้นมีพระอุปนิสัยโผงผางและทรงไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยนัก

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายฟิลิปได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 เพื่ออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ในที่สุด โดยก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 นั้น เจ้าชายฟิลิปต้องทรงสละสัญชาติกรีซและพระฐานันดรในราชวงศ์กรีซเสียก่อน เพื่อทรงเข้าเป็นพลเมืองอังกฤษ โดยในตอนแรกทรงใช้นามสกุล "เมาท์แบตเทน" ตามพระญาติฝ่ายพระมารดา แต่ก่อนวันอภิเษกสมรสหนึ่งวัน พระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้พระราชทานพระยศ His Royal Highness แก่เจ้าชายฟิลิป และทรงแต่งตั้งให้เป็นดยุคแห่งเอดินบะระ เอิร์ลแห่งเมอเรียนเนธและบารอนกรีนิช ในวันต่อมา

 

Getty Images

 

วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษคนสำคัญของอังกฤษกล่าวว่า การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ ถือได้ว่าเป็น "ชั่วขณะแห่งสีสัน" ท่ามกลางบรรยากาศหดหู่หม่นหมองหลังสงครามของอังกฤษ พระโอรสองค์แรกของทั้งสองพระองค์คือเจ้าชายชาร์ลส์ (พระยศในขณะนั้น) ประสูติที่พระราชวังบักกิงแฮมในปีถัดมา

 

Getty Images
การที่สมเด็จพระราชินีนาถโปรดให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ใช้ชื่อราชสกุล "วินด์เซอร์" ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระเสียพระทัยอย่างมาก เพราะเป็นผู้ชายคนเดียวในประเทศที่ไม่อาจให้ลูกใช้นามสกุลของตนได้

 

อำลาชีวิตทหารเรือ เพื่อเคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถ

แม้ในปี 1950 ดยุคแห่งเอดินบะระจะทรงประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ทหารเรือทุกคนใฝ่ฝัน โดยได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือสลุป HMS Magpie ก็ตาม แต่ในปีต่อมา พระองค์กลับต้องทรงอำลาจากเส้นทางชีวิตทหารเรือที่ทรงรักมากไปตลอดกาล เมื่อพระพลานามัยของพระเจ้าจอร์จที่ 6 เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จนเจ้าหญิงเอลิซาเบธต้องทรงเป็นผู้รับภาระในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ แทนพระองค์ ซึ่งในการนี้ พระสวามีจำเป็นต้องประทับอยู่เคียงข้างองค์เจ้าหญิงรัชทายาทมากกว่าช่วงเวลาใด ๆ

 

ในปี 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธและดยุคแห่งเอดินบะระทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการเสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ในเครือจักรภพอังกฤษ โดยระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศเคนยา ข่าวร้ายเรื่องการเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็มาถึง ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระต้องทรงเป็นผู้แจ้งข่าวที่น่าโทมนัสอย่างยิ่งนี้แก่เจ้าหญิงเอลิซาเบธด้วยพระองค์เอง รวมทั้งต้องแจ้งข่าวสำคัญอีกเรื่องแก่พระชายาด้วยว่า บัดนี้ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว

 

เมื่อพระชายาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ดยุคแห่งเอดินบะระทรงมีพระดำริใหม่ ๆ หลายเรื่องในอันที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษมีความทันสมัยสอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ แต่ก็ต้องพบกับการคัดค้านต่อต้านจากข้าราชสำนักเก่าแก่ที่ทรงอิทธิพล

 

พระองค์ยังไม่สามารถชักจูงให้สมเด็จพระราชินีนาถเปลี่ยนพระทัยให้พระราชโอรสธิดาใช้ชื่อสกุล "เมาท์แบตเทน" ของพระองค์ได้ โดยสมเด็จพระราชินีนาถโปรดให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ใช้ชื่อราชสกุล "วินด์เซอร์" ซึ่งกรณีนี้ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระเสียพระทัยอย่างมาก จนถึงกับตรัสประชดว่าพระองค์เป็นเหมือนกับแค่อะมีบาตัวหนึ่ง เพราะเป็นผู้ชายคนเดียวในประเทศที่ไม่อาจให้ลูกใช้นามสกุลของตนได้

 

BBC

พระกรณียกิจเพื่อการกุศล

ดยุคแห่งเอดินบะระทรงมีความสนพระทัยในกิจการเพื่อเยาวชนมายาวนาน โดยในปี 1956 มีการก่อตั้งรางวัลดยุคแห่งเอดินบะระ (Duke of Edinburgh's Award - DofE ) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตนเองของเยาวชนในสหราชอาณาจักรและในอีก 144 ประเทศทั่วโลก โดยจะมีการมอบรางวัลนี้ให้แก่เยาวชนทั่วไปและเยาวชนผู้พิการอายุ 15-25 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการทำงานจิตอาสา ฝึกฝนเล่นกีฬาและทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งการฝึกทักษะอื่น ๆได้ครบตามกำหนด

 

ดยุคแห่งเอดินบะระตรัสกับบีบีซีว่า "ถ้าคุณสามารถทำให้คนหนุ่มสาวได้มีโอกาสประสบความสำเร็จในกิจกรรมด้านใดด้านหนึ่งแล้วละก็...ความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความสำเร็จนั้นจะแผ่ขยายออกไปยังเยาวชนคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากด้วย"

 

พระองค์ยังทรงสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งการพิทักษ์รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทรงอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อตั้งกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund -WWF ) ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature ) โดยทรงรับเป็นประธานกองทุนคนแรก

 

ผู้นำที่ยอมรับความเป็น "หมายเลขสอง" อย่างเข้มแข็ง

พระอุปนิสัยโผงผางตรงไปตรงมาของดยุคแห่งเอดินบะระ ทำให้หลายครั้งทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงถ้อยคำไม่เหมาะสมที่ได้ตรัสออกมาในหลายโอกาส แต่ก็มีบางคนมองว่า พระอุปนิสัยดังกล่าวแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสิ่งใด แม้แต่กรอบการแสดงความเห็นที่ถือกันว่าถูกต้องทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ดยุคแห่งเอดินบะระทรงลดพระอุปนิสัยแข็งกร้าวลงไปอย่างมากเมื่อมีพระชนมายุมากขึ้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัญหาชีวิตสมรสที่ไม่ยั่งยืนของเหล่าพระโอรสธิดา และกระแสความไม่พอใจของสาธารณชนที่มีต่อราชวงศ์อังกฤษในช่วงหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระต้องทรงเป็นผู้ปลอบโยนแสดงความเข้าใจต่อความทุกข์ของบรรดาพระราชวงศ์ รวมทั้งทรงทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้สถาบันกษัตริย์แสดงบทบาทที่สอดคล้องลงตัวกับทัศนะของสังคมที่เปลี่ยนไป ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

 

ดยุคแห่งเอดินบะระตรัสว่า พระภารกิจหลักที่สำคัญใหญ่หลวงต่อพระองค์ที่สุดก็คือ "การทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงครองราชย์ตราบยิ่งยืนนาน" แม้จะต้องทรงยอมรับบทบาทอย่างเป็นทางการที่ต้องตกเป็นรองพระชายาในทุกครั้งก็ตาม

 

ในวโรกาสทรงเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสครบรอบ 50 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองมีพระราชดำรัสถึงพระราชสวามีซึ่งคอยสนับสนุนพระองค์ตลอดมาว่า

 

"ท่านเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับคำชมง่าย ๆ แต่ที่จริงแล้วท่านเป็นขุมพลังแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ ข้าพเจ้าและสมาชิกครอบครัวของท่านทั้งหมด รวมทั้งประเทศนี้และประเทศอื่น ๆ ต่างเป็นหนี้ต่อท่านมากยิ่งกว่าที่จะกล่าวอ้างหรือล่วงรู้ได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง