รีเซต

เจ้าชายฟิลิป ดยุคมากอารมณ์ขัน แต่บางครั้งถูกสื่อมองว่าไม่เหมาะสม

เจ้าชายฟิลิป ดยุคมากอารมณ์ขัน แต่บางครั้งถูกสื่อมองว่าไม่เหมาะสม
ข่าวสด
10 เมษายน 2564 ( 01:22 )
152

แม้ดยุคแห่งเอดินบะระทรงประสบความสำเร็จในพระกรณียกิจหลายด้าน แต่สำหรับบางคนแล้ว ภาพในความทรงจำที่ชัดเจนเกี่ยวกับพระองค์คือการมีพระดำรัสที่ตรงไปตรงมา เปิดเผยสิ่งที่อยู่ในพระทัยอย่างไม่ปิดบัง

 

ภาพลักษณ์ของพระองค์ในสายตาสาธารณชน คือชายที่พูดจาแบบขวานผ่าซาก ไม่ค่อยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น และในบางครั้งก็ขาดความระมัดระวังรอบคอบ ซึ่งภาพลักษณ์เช่นนี้ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ตามการรายงานของสื่อที่ไม่สู้ชื่นชมพระองค์นัก

 

แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สนับสนุนของเจ้าชายฟิลิปนั้นกล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า พระอารมณ์ขันของพระองค์ถูกประชาชนเข้าใจผิด เนื่องจากสื่อรายงานผิดพลาดหรือเสนอข้อความพระดำรัสแยกออกจากบริบทที่แวดล้อมอยู่อย่างสิ้นเชิง ในบางครั้งถึงกับมีการเสริมแต่งเรื่องราวขึ้นใหม่ เพื่อให้มีข่าวล่าสุดเกี่ยวกับ "ถ้อยคำหลุดปาก" ของพระราชวงศ์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง

 

Getty Images

ข่าวคราวเกี่ยวกับถ้อยคำหลุดปากของดยุคแห่งเอดินบะระ เริ่มปรากฏตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นยุคที่สื่อเริ่มคลายความเคารพยำเกรงต่อพระราชวงศ์ตามธรรมเนียมดั้งเดิมลง

 

ในที่สุดรายงานข่าวลักษณะนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเสด็จฯเยือนต่างประเทศทุกครั้ง โดยพระดำรัสที่ขาดความยั้งคิดรอบคอบของเจ้าชายฟิลิปจะดูโดดเด่นเป็นที่ฮือฮามากขึ้น เมื่อสื่อนำเสนอเปรียบเทียบกับพระราชดำรัสที่สุภาพและเต็มไปด้วยความระมัดระวังของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง พระชายาของพระองค์เอง

 

คำพูดหลุดปากที่หวนกลับมาหลอกหลอนเจ้าชายฟิลิปได้มากที่สุด คือพระดำรัสระหว่างการตามเสด็จฯ สมเด็จพระราชินีนาถฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในปี 1986

 

PA

ชาวจีนไม่ถือสาพระดำรัสของเจ้าชายฟิลิปเรื่องตาตี่เล็ก

 

เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อดยุคแห่งเอดินบะระทรงสนทนาอย่างเป็นมิตรกับกลุ่มนักศึกษาต่างชาติจากสกอตแลนด์ที่มาเรียนในจีน โดยระหว่างการสนทนาที่เป็นส่วนตัวนี้ ทรงกล่าวหยอกบรรดานักศึกษาว่าหากอยู่จีนนานเกินไปตาอาจตี่ลงได้

 

ข่าวนี้รู้ไปถึงหูสื่อมวลชนหลังการเสด็จฯเยือนจีนสิ้นสุดลง หนังสือพิมพ์เดลี่มิร์เรอร์ถึงกับพาดหัวข่าวว่า "คนทึ่ทึ่มผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองจีน" (The great wally of China)

 

เรื่องราวและการประโคมข่าวที่เป็นลบในเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมต่อดยุคแห่งเอดินบะระหรือไม่ ก็ได้ทำให้สาธารณชนจดจำไปแล้วว่า พระองค์เป็นผู้ที่จะต้องตรัสอะไรผิดพลาดออกมาเสมอ

 

เมื่อสื่อมวลชนถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันคล้ายวันประสูติครบรอบ 90 พรรษา เจ้าชายฟิลิปตรัสกับบีบีซีว่า "มันไม่ทำให้เกิดผลกระทบอะไรในประเทศจีนนี่ หากนั่นคือสิ่งที่คุณกังวลอยู่นะ"

 

PA Media
สื่อมวลชนรายงานว่า เจ้าชายฟิลิปตรัสถามว่าชนพื้นเมืองทุกวันนี้ยังพุ่งหอกใส่กันอยู่หรือเปล่า

 

นอกจากนั้นแล้ว พระดำรัสที่ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ของชายผู้มักหลุดปากกล่าวผิดพลาดทางการทูต ก็ยังมีอยู่อีกมากมายหลายครั้ง เช่นในปี 2002 บรรดาแขกเหรื่อของวัดศรีมุรุกันซึ่งเป็นศาสนสถานฮินดูทางตะวันออกของกรุงลอนดอน ต้องพากันทั้งขำและตกตะลึง เมื่อเจ้าชายฟิลิปตรัสถามนักบวชของวัดว่า พวกเขาเป็นนักรบของกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬในศรีลังกาหรือไม่

 

มีรายงานว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้บรรดานักบวชรู้สึกว่าถูกดูหมิ่นแต่อย่างใด และเหตุที่เจ้าชายฟิลิปมีพระดำรัสเช่นนี้ก็เพื่อพยายามทำให้งานพิธีที่เป็นทางการคลายความขึงขังเคร่งเครียดลง

 

เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อทรงสนทนากับซูซาน เอ็ดเวิร์ดส์ หญิงผู้พิการทางสายตาที่มีสุนัขนำทาง โดยทรงพยายามผ่อนคลายบรรยากาศที่อึดอัดด้วยพระอารมณ์ขัน แต่กลับถูกสื่อมวลชนมองว่าตรัสไม่เหมาะสม แม้ผู้ที่พระองค์ตรัสด้วยจะไม่ถือสาก็ตาม

 

ดยุคแห่งเอดินบะระตรัสกับซูซานว่า "คุณรู้ไหม เดี๋ยวนี้มีหมาช่วยกิน สำหรับคนเป็นโรคคลั่งผอมอะนอเร็กเซียแล้วนะ"

 

แม้พระดำรัสจะฟังดูไม่คิดถึงจิตใจของผู้พิการเท่าใดนัก แต่ตัวซูซานเองบอกกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า "เป็นคุณจะทำยังไง หากต้องทักทายพูดคุยกับคนแปลกหน้าตั้ง 350 คน ? คุณคงต้องพูดอะไรบางอย่าง และฉันคิดว่าพูดติดตลกยังดีกว่าเงียบเฉยไว้ตัวจนดูห่างเหิน"

 

ในปี 2002 เจ้าชายฟิลิปตรัสกับวิลเลียม บริม เจ้าของอุทยานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองทะเลใต้ว่า ทุกวันนี้คนพื้นเมือง "ยังพุ่งหอกใส่กันอยู่ไหม"

 

อย่างไรก็ตาม บรรดาพระสหายและผู้สนับสนุนของพระองค์ยืนยันว่า พระดำรัสเช่นนี้มีขึ้นเพื่อทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นกันเอง ทั้งทางสำนักพระราชวังบักกิงแฮมและผู้ที่พระองค์ตรัสด้วยต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการตรัสติดตลกขำขันเท่านั้น

 

แต่ก็ด้วยการตรัสชวนหัวให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลาย หรือไม่ก็ตรัสยั่วยุให้เกิดการถกเถียงเช่นนี้เอง ที่ทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตเป็นพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกครั้ง

 

เมื่อบีบีซีทูลถามว่า ทรงรู้สึกว่าสื่อไม่เป็นธรรมหรือบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับพระองค์หรือไม่ ดยุคแห่งเอดินบะระตรัสตอบว่า "ผมว่าใช่นะในบางครั้ง แต่ผมคิดว่าสื่อก็มีประเด็นของตนเอง...และมันก็เท่านั้น คุณต้องอยู่กับมันให้ได้"

 

ภาพประกอบทุกภาพมีลิขสิทธิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง