รีเซต

ไข้เลือดออกระบาด! เปิด 4 จังหวัดอีสานใต้ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 3,000 ราย

ไข้เลือดออกระบาด! เปิด 4 จังหวัดอีสานใต้ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 3,000 ราย
TNN ช่อง16
5 สิงหาคม 2566 ( 12:48 )
160

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เผย 4 จังหวัดอีสานใต้ "ไข้เลือดออก" ระบาดหนัก พบผู้ป่วยแล้วกว่า 3,000 ราย ในรอบ 7 เดือน

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่า ช่วงนี้รูปแบบการระบาดของโรคไข้เลือดออกพบมากในผู้ใหญ่ ย้ำหากมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ให้รีบพบแพทย์ หาหมอครั้งแรกไม่หายต้องไปครั้งที่ 2 เพื่อตรวจให้ละเอียดและป้องกันตนเองไม่ให้ถูก ยุงกัด


สำหรับลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือ 


ในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน 

ในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม เลือดกำเดาไหล หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ อาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ที่สำคัญควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการช็อก และขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก


สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 29 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 26 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 46,855 ราย มีผู้เสียชีวิต 41 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ


สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ในสัปดาห์ที่ 31 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 4 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 3,186 ราย อัตราป่วย 47.45 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 


สามารถแยกสถานการณ์เป็นรายจังหวัด ดังนี้ 


1.จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 1,308 ราย อัตราป่วย 94.97 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย 


2.จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 959 ราย อัตราป่วย 36.41 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 


3.จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 578 ราย อัตราป่วย 51.44 ต่อประชากรแสนคน 


4.จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 341 ราย อัตราป่วย 21.58 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 0-4 ปี ตามลำดับ


นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง อยู่ในที่โล่งแจ้งมีลมถ่ายเทได้สะดวก อย่าอยู่ในที่มุมอับ มืด และให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำ ปิดฝาให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย


นอกจากนี้ต้องช่วยกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม ป้องกันควบคุม โรงเรือน บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม/รีสอร์ท โรงงาน/อุตสาหกรรม โรงธรรม (วัด/มัสยิด/ศาสนสถาน) และสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีการรวมตัวกันของประชาชนถือเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และจากผลการสำรวจนั้น พบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสูงสุดในกลุ่มโรงเรียน และโรงธรรม


ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะอ้วน ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด หากมีอาการไข้สูงลอย ร่วมปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.




ภาพจาก ผู้สื่อข่าวโคราช/AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง