โลกร้อนพรากอาหารคนทั้งโลก แม้แต่กล้วยอาจจะไม่เหลือให้กิน

ท่ามกลางกระแสวิกฤตภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี มีผลไม้ชนิดหนึ่งที่กำลังกลายเป็นเหยื่อเงียบของความเปลี่ยนแปลงนี้ นั่นคือ กล้วย ผลไม้ที่เป็นทั้งอาหารหลักของคนหลายล้านคน และเป็นสัญลักษณ์แห่งช่องว่างทางความมั่งคั่งในประวัติศาสตร์โลกาภิวัตน์
กล้วยเป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตตลอดปี กินอิ่มและราคาถูก จึงไม่แปลกใจที่มันจะกลายเป็นผลไม้ยอดนิยมของโลก แต่ในรายงานฉบับใหม่ขององค์กร Christian Aid ระบุว่า กล้วยกำลังเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่จากภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกล้วยหลักของโลก รายงานเตือนว่า กว่า 60% ของพื้นที่ที่เคยเหมาะสมกับการปลูกกล้วยในภูมิภาคนี้อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไปภายในปี 2080
กล้วยต้องการสภาพอากาศที่เฉพาะเจาะจงมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 15–35 องศาเซลเซียส และต้องการความชื้นสูงถึง 85% ความร้อนที่สูงเกิน 34 องศาเริ่มส่งผลให้ต้นกล้วยเครียด และหากสูงถึง 38 องศาฯ ต้นกล้วยจะหยุดเติบโต ใบจะเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น กล้วยยังไม่ทนต่อแรงลม และไวต่อความแห้งแล้งอย่างรุนแรง กล่าวได้ว่า “สภาพอากาศแปรปรวน” กลายเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อการดำรงอยู่ของพืชชนิดนี้
กรณีของประเทศกัวเตมาลา ผู้ส่งออกกล้วยรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความเปราะบางต่อโลกร้อน จากรายได้หลักที่ผูกพันกับกล้วย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ประเทศกลับอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากที่สุดในโลก
ความเปราะบางไม่ได้จำกัดแค่เรื่องสภาพอากาศ พันธุ์กล้วยส่งออกส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือพันธุ์ Cavendish ซึ่งถูกโคลนให้ได้รสชาติสม่ำเสมอและผลผลิตสูง ทว่าการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมทำให้พืชชนิดนี้เสี่ยงต่อโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบดำ ที่สามารถลดประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงได้ถึง 80%
แม้ผู้บริโภคในยุโรปและอเมริกาเหนือจะบริโภคกล้วยเฉลี่ย 12 กิโลกรัมต่อปี แต่ในแอฟริกาและเอเชีย กล้วยคืออาหารหลักที่บริโภคในปริมาณเดียวกันภายในเพียงเดือนเดียว ตัวอย่างเช่น อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้วยมากที่สุดในโลก กลับส่งออกไม่มากนัก เพราะประชาชนบริโภคในประเทศเป็นหลัก เช่นเดียวกับแทนซาเนียที่มีประชากรกว่า 30% พึ่งพากล้วยเป็นรายได้หลัก
ในอดีต กล้วยเคยเป็นเครื่องมือของอำนาจจักรวรรดินิยมที่กดขี่ประเทศในลาตินอเมริกา จนเกิดคำว่า “สาธารณรัฐกล้วย” (Banana Republic) ขึ้นเพื่อสะท้อนการแทรกแซงทางเศรษฐกิจและการเมืองจากต่างชาติ วันนี้ วิกฤตโลกร้อนกำลังฉายภาพซ้ำของอดีต ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มที่แทบไม่มีส่วนร่วมในการก่อปัญหา
องค์กร Christian Aid เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส และเสนอให้มีการเก็บภาษี “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” เพื่อให้ประเทศที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากที่สุดต้องร่วมรับผิดชอบและสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเผชิญกับผลกระทบ
ท้ายที่สุด กล้วยไม่ใช่แค่ผลไม้ แต่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ความยากจน ความไม่เป็นธรรม และความเปราะบางของผู้คนในโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน หากเรายังละเลยพืชผลที่อยู่บนโต๊ะอาหารของผู้คนจำนวนมาก ความยั่งยืนที่แท้จริงก็อาจเป็นเพียงคำพูดสวยหรูในเอกสารการประชุม
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
