รีเซต

ปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่ม “ผู้ป่วยโรคหัวใจ” น่ากังวลกว่าที่คิด!

ปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่ม “ผู้ป่วยโรคหัวใจ” น่ากังวลกว่าที่คิด!
TNN Health
28 ตุลาคม 2564 ( 16:31 )
198

นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ยังพบด้วยว่าการป่วยด้วยโรคหัวใจ มีผลเชื่อมโยงไปสู่สุขภาพจิตของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน


นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เผยว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ

1. โรคเครียดหรือโรควิตกกังวล (Anxiety) ซึ่งเป็น Positive symptoms คือ การมีความกังวลหรือความกลัวต่อโรคที่เป็นว่าจะมีอาการหนักเพียงใด จะเสียชีวิตเมื่อใด หรือจะรักษาได้จริงหรือไม่ เนื่องด้วยโรคหัวใจมักมีอาการที่ซับซ้อน ทำให้ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ผู้ป่วยจึงมักเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เพราะชีวิตขาดความแน่นอนและมองไม่เห็นอนาคต ก่อตัวเป็นความเครียดจนเกิดอาการ อาทิ นอนไม่หลับ ปวดหัวเรื้อรัง หรือใจสั่น โดยบางอาการก็แยกจากโรคหัวใจได้ยาก เช่น หายใจไม่อิ่ม ใจไม่ดี ตกใจง่าย หรือไม่กล้าออกจากบ้านคนเดียว

2. กลุ่มที่มี Negative symptoms หรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ และมองว่าตนเองไม่มีค่า


มากถึง 1 ใน 3 ของคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) พบว่ามีภาวะซึมเศร้า และกว่า 50% มีภาวะซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major depressive disorder) ซึ่งมีอาการถึงขั้นคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการรักษาใดๆ


“สถานะทางสุขภาพจิตของผู้ป่วย มีความสำคัญมากต่อผลลัพธ์ของการรักษา หากแต่คนไข้จำนวนไม่น้อย ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้า เพราะหมอส่วนใหญ่จะวินิจฉัยทางกายเป็นหลัก ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ในทุกมิติ รวมถึงคนไข้เองก็อาจจะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน” นพ.รังสฤษฎ์ กล่าว


ทั้งนี้ ระบบประสาทของมนุษย์มี 2 ระบบ คือ ระบบ Sympathetic ซึ่งทำหน้าที่เป็น “คันเร่ง” คอยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และระบบ Para-sympathetic ระบบที่ทำหน้าที่เป็น “เบรก” คอยชะลอไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป ในยามที่เกิดความเครียดหรืออาการซึมเศร้า ระบบคันเร่งจะได้รับการกระตุ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดหดเกร็ง และความดันสูงขึ้น


ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลนับครั้งไม่ถ้วน ค่าใช้จ่ายที่อาจกระทบฐานะ และอาการของโรคที่หนักและเรื้อรัง ทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวและคนในครอบครัวที่ต้องคอยดูแล ก็ล้วนสามารถก้าวสู่ภาวะเครียดหรือซึมเศร้าได้


ในการเอาชนะปัญหาสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวนั้น นพ.รังสฤษฎ์ แนะนำว่า ต้องมีความเข้าใจต่อการรักษาโรคที่ถูกต้อง เพราะโรคหัวใจล้มเหลวเป็นโรคที่รักษาได้ แม้ไม่หายขาดแต่การปฏิบัติตามแผนการรักษา จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีและยืนยาวได้ ควบคู่กับการดูแลอย่างเข้าถึงและเข้าใจ และบำรุงสุขภาพจิตแก่กันและกันอยู่เสมอ

 

—————

ที่มา:

- นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
- โครงการ Hug Your Heart

ข่าวที่เกี่ยวข้อง