อันตรายจาก "สารหนู-ตะกั่ว" ในวัน “แม่น้ำกก” อาจเป็นพิษ ผลกระทบเหมืองแร่หายากในเมียนมา

สารหนูและตะกั่ว เกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก จนกระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนระวังการบริโภคปลาน้ำจืด
เชื่อว่า สารพิษเหล่านี้ มาจากการทำเหมืองแร่หายากและเหมืองทองในฝั่งเมียนมา แล้วสารพิษไหลลงบริเวณต้นแม่น้ำกก ที่ไหลผ่านมาสู่ฝั่งไทย
แล้วสารหนูกับตะกั่ว หากเข้าร่างกายจะอันตรายแค่ไหน
อันตรายของสารหนู
ข้อมูลกรมควบคุมโรคชี้ว่า สารหนูหากเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่อันตราย จะส่งผลต่อระบบผิวหนัง พบจุดดำกระจายขนาด 1-2 มิลลิเมตร หรือตุ่มนูนแข็งสีเหลืองที่ฝ่ามือฝ่าเท้า
สารหนูยังกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย กล้ามเนื้อหัวใจอาจเกิดภาวะหัวใจเสียจังหวะ เนื้อเน่าตายปริเวณปลายเท้า และเสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้น ทั้งมะเร็งตับ ปอด ไต และกระเพาะปัสสาวะ
อันตรายของตะกั่ว
พิษจากสารตะกั่ว ก่อให้เกิดอาการต่างกันไป เด็กจะเป็นอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะดูดซึมตะกั่วเข้าร่างกายได้มากกว่า
สารตะกั่วปริมาณต่ำ จะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากสะสมมากเข้า ถ้าเป็นเด็ก ก็เสี่ยงต่อพัฒนาการที่เติบโตช้ากว่าปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไอคิวต่ำ หรือมีปัญหาในการฟังได้
กรณีผู้ใหญ่ ก็จะมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดข้อต่อและกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง และภาวะมีบุตรยาก
ถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์ ก็เสี่ยงต่อการแท้งบุตร ภาวะตายคลอด และคลอดก่อนกำหนดด้วย
กรณีแม่น้ำกก พบสารเหล่านี้ในปริมาณเพิ่มขึ้น สำนักงานสาธารณสุขเชียงราย นอกเหนือจากระวังในการบริโภคปลาน้ำจืด ก็แนะนำให้ล้างผักผลไม้ให้สะอาดด้วย