รีเซต

สานฝันคนรักกันดั้ม ! ญี่ปุ่นพัฒนาหุ่นยนต์ทรง “กันดั้ม” ราคา 111 ล้านบาท

สานฝันคนรักกันดั้ม ! ญี่ปุ่นพัฒนาหุ่นยนต์ทรง “กันดั้ม” ราคา 111 ล้านบาท
TNN ช่อง16
3 ตุลาคม 2566 ( 23:16 )
161

สตาร์ตอัปในประเทศญี่ปุ่นสานฝันคนรัก “กันดั้ม” ด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์คล้ายกันดั้มตัวใหญ่ยักษ์ ที่สามารถให้มนุษย์เข้าไปนั่งบังคับการเคลื่อนไหวอยู่ภายในตัวหุ่นยนต์ได้จริง ๆ เหมือนกับที่เราเห็นในภาพยนตร์ไซไฟหลาย ๆ เรื่องเลย


ภาพจากรอยเตอร์

ซึบาเมะอินดัสทรีส์ (Tsubame Industries) บริษัทสตาร์ทอัพในกรุงโตเกียว ใช้เวลาสองปีในการพัฒนาหุ่นยนต์ทรงคล้ายกันดั้ม ให้ชื่อเรียกว่า อาร์แคกซ์ (ARCHAX) ตั้งชื่อเรียก ตามชื่อของไดโนเสาร์จำพวกนก ตัวหุ่นยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ มีความสูง 4.5 เมตร และหนัก 3.5 ตัน ด้านในของหุ่นยนต์มีห้องคนขับ พร้อมจอภาพ ที่จะรับภาพเชื่อมต่อจากกล้องภายนอกตัวหุ่นยนต์ เพื่อให้คนขับสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ และสามารถใช้จอยสติ๊ก สั่งบังคับการเคลื่อนไหวของแขน มือ ล้อ และข้อต่อของหุ่นยนต์ทั้งหมดกว่า 26 ข้อต่อ จากภายในตัวหุ่นยนต์ได้ 


ภาพจากรอยเตอร์

 


ตัวหุ่นยนต์ยังสามารถปรับการใช้งานได้ถึง 2 โหมดด้วยกัน คือ "โหมดหุ่นยนต์" หรือโหมดที่จะตั้งตัวหุ่นยนต์แบบยืนตรงเฉย ๆ แต่ยังสามารถควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น ขยับแขน ขยับมือ หันซ้าย ขวา หรือการเคลื่อนไหวเล็กน้อยได้ แต่จะยังไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน และโหมดที่สองคือ "โหมดยานพาหนะ" ซึ่งมันจะแปลงร่างโดยการปรับกางล้อที่ขาออกมาทั้ง 4 ล้อ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้คล้ายกับรถยนต์ โดยสามารถเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


ภาพจากรอยเตอร์

เรียว โยชิดะ (Ryo Yoshida) ซีอีโอของของบริษัท ซึบาเมะอินดัสทรีส์ กล่าวว่า เป้าหมายของเขาคือการสร้างยานพาหนะรูปแบบใหม่ที่ถ้าเห็นแล้วต้องร้องว่า “นี่แหละคือญี่ปุ่น” เขาจึงได้ผสมผสานองค์ประกอบต่าง ๆ จากจุดแข็งด้านอุตสาหรรมของประเทศญี่ปุ่นเอง ทั้งในด้านแอนิเมชั่น หุ่นยนต์ และรถยนต์ เข้าด้วยกัน จนกลายมาเป็นหุ่นยนต์ตัวนี้นั่นเอง


ภาพจากรอยเตอร์

ส่วนเป้าหมายหลังจากนี้ โยชิดะ มีแผนการที่จะนำหุ่นยนต์ไปแสดงในงาน เจแปน โมบิลิตี้ โชว์ (Japan Mobility Show) หรืองานแสดงยานยนต์ในปลายเดือนตุลาคมนี้ และเตรียมวางจำหน่ายหุ่นยนต์ 5 ตัวแรกสำหรับคนที่สนใจ โดยสามารถเป็นเจ้าของได้ในราคาตัวละ 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 111,000,000 บาท 


ภาพจากรอยเตอร์

อย่างไรก็ตามเขาหวังว่าในอนาคตหุ่นยนต์ตัวนี้จะไปได้ไกลกว่าการเป็นแค่ของเล่นหรือของสะสม แต่จะสามารถเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้จริง เช่น เอาไปใช้ช่วยเหลือคน ตอนเกิดภัยพิบัติ หรือเอาไปใช้งานในอุตสาหกรรมอวกาศได้ในอนาคต



ข้อมูลจาก reutersconnect,  reuters, geo


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง