รีเซต

ปีแห่ง Space! สรุปความก้าวหน้าทัวร์อวกาศ ธุรกิจมาแรงแห่งปี

ปีแห่ง Space! สรุปความก้าวหน้าทัวร์อวกาศ ธุรกิจมาแรงแห่งปี
TNN ช่อง16
28 ธันวาคม 2564 ( 18:00 )
369
ปีแห่ง Space! สรุปความก้าวหน้าทัวร์อวกาศ ธุรกิจมาแรงแห่งปี

ตลอดทั้งปี 2021 ต้องยกให้เป็น “ปีแห่งธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ” ยืนยันได้จากข่าวความเคลื่อนไหวที่มีมาให้ติดตามกันตลอดทั้งปี และถ้าหากดูในแง่ของการเติบโตแล้ว ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศมีตัวเลขที่น่าสนใจมากทีเดียว!

ภาพจากรอยเตอร์เริ่มจากรายงานของ UBS ธนาคารระดับโลกที่ให้บริการทางการเงินในกว่า 50 ประเทศ คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวบนอวกาศไม่ว่าจะแบบ suborbital หรือการเดินทางไปแตะขอบอวกาศระยะสั้น ๆ และแบบ orbital หรือการเดินทางไปอวกาศแบบเข้าสู่วงโคจรนานหลายวัน จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 99,000 ล้านบาท ในปี 2030 นี้ 

ส่วนด้านของ Northern Sky Research ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมอวกาศ คาดว่า การท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ จะมีมูลค่ามหาศาลเช่นกัน โดยภายในศตวรรษหน้า การท่องเที่ยวอวกาศแบบ suborbital จะมีมูลค่าตลาดกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 92,000 ล้านบาท ในขณะที่การท่องเที่ยวอวกาศแบบ orbital จะมีมูลค่าตลาดกว่า 610 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท 
ภาพจาก รอยเตอร์นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า การเดินทางไปอวกาศด้วยความเร็วสูง จะกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นคู่แข่งของเหล่าบรรดาเที่ยวบินข้ามประเทศ ที่ต้องใช้เวลาบินนาน ๆ มากกว่า 10 ชั่วโมง 


ที่เป็นเช่นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า เทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาตัวจรวด เครื่องบินความเร็วสูง หรือยานพาหนะใด ๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ สามารถที่จะนำไปปรับใช้กับเครื่องบินโดยสารที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันได้ เพื่อให้การเดินทางนั้นมีประสิทธิภาพและเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ จึงไม่ได้ครอบคลุมแค่การเดินทางออกไปนอกโลกอย่างเดียว แต่มันยังรวมถึงการเดินทางบนน่านฟ้าอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางข้ามทวีป กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าเดิม


ด้วยโอกาสทางธุรกิจที่มีมากมายของตลาดธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ จึงทำให้บริษัทเทคหลาย ๆ เจ้าพยายามที่จะกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ และแย่งชิงความเป็นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามทหารเสือผู้นำด้านการท่องเที่ยวอวกาศที่เราได้ยินเรื่องราวของเขากันมาตลอดทั้งปี ได้แก่ Blue Origin, SpaceX และ Virgin Galactic ที่น่าสนใจ คือ ทั้งสามบริษัทต่างก็มีจุดเด่นในการให้บริการของตัวเอง และต่างออกมาแสดงความพร้อม แสดงศักยภาพ ด้วยการทดสอบเที่ยวบิน พาลูกเรือ ซึ่งไม่ใช่นักบินอวกาศ แต่เป็นคนธรรมดาที่มีแบกกราวนด์แตกต่างกัน ขึ้นไปเยือนอวกาศให้ชาวโลกได้เห็นมาแล้ว ซึ่งการทดสอบเที่ยวบินของทั้งสามทหารเสือนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

VERGIN GALACTIC

การแข่งขันของ 3 บริษัทธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศในอเมริกา ผู้ที่เข้าสู่เส้นชัยพาคนธรรมดาไปเที่ยวอวกาศได้เป็นเจ้าแรกคือ “เวอร์จิน กาแล็กติก” ของริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของแบรนด์เวอร์จินที่ครอบคลุมธุรกิจหลากหลาย โดยบริษัทสร้างตำนานด้วยการนำเครื่องบินอวกาศ “วีเอสเอส ยูนิตี” vss unity ขึ้นบินพร้อมลูกเรือได้สำเร็จ แซงหน้าคู่แข่งทั้งบลูออริจินและสเปซเอ็กซ์ไปก่อนคนแรก 


สำหรับเที่ยวบินท่องอวกาศของเวอร์จิน กาแล็กติก นั้น มีความแตกต่างจากอีกสองบริษัท ตรงที่เป็นการเน้นการให้ “ประสบการณ์เหมือนได้นั่งเครื่องบินชมอวกาศ” โดยเมื่อ ตัวยาน ไต่ถึงระดับที่เหมาะสม ระบบจะทำการดีดตัวแยกเครื่องบินอวกาศ “วีเอสเอส ยูนิตี” ออกมา และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียง 3 เท่า เพื่อขึ้นไปแตะอวกาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 86 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก 


ด้วยระดับความสูงนี้ จึงทำให้บลูออริจิน คู่แข่ง แอบแซวว่า เวอร์จิน กาแล็กติก ไปได้ถึงแค่ขอบอวกาศ อย่างไรก็ตาม เวอร์จิน กาแล็กติก ก็ไม่แคร์ที่โดนแซวแบบนี้ เพราะถือว่าบริษัทสามารถสร้างตำนานได้เป็นเจ้าแรก และยังเป็นเสมือนการประกาศความพร้อมที่จะให้บริการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสสี่ของปี 2022 ตามแผนที่วางไว้  ส่วนราคาตั๋วคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 450,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 14,700,000 บาท ต่อหนึ่งที่นั่ง

BLUE ORIGIN

ในส่วนของบลู ออริจิน ของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส์ผู้ก่อตั้ง e-commerce ยักษ์ใหญ่ของโลก Amazon แม้จะโดนเวอร์จิน กาแล็กติก ตัดหน้าขึ้นสู่อวกาศไปก่อน 9 วัน แต่บริษัทก็ได้ยืนยันอย่างภาคภูมิใจว่าจรวด New shepard ของบริษัทจะพาผู้โดยสารออกไปแตะอวกาศได้ไกลกว่าเวอร์จิน กาแล็กติกอย่างแน่นอน โดยความโดดเด่นของบลู ออริจิน คือ การออกแบบจรวดให้ยิงขึ้นและลงจอดในแนวตั้ง มีหน้าต่างชมวิวที่กว้างและมองเห็นได้รอบด้านกว่า 


นอกจากนี้ตัวแคปซูลยังไม่จำเป็นต้องใช้คนขับแบบเวอร์จิน กาแล็กติก ทั้งยังสามารถนำตัวจรวดบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย โดยการขึ้นบินของบลู ออริจิสองครั้งก่อนหน้านี้ ก็มีเกสต์ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ทั้ง วอลลี ฟังก์ นักบินอวกาศหญิงที่มีอายุ 82 ปี ทำสถิตินักบินอวกาศที่อายุมากที่สุดเท่าที่เคยไปอวกาศ ก่อนจะโดนทุบสถิติในรอบที่สองด้วยวิลเลียม แชตเนอร์ ผู้รับบทกัปตันเคิร์กจาก สตาร์ เทรค ที่ออกไปแตะอวกาศด้วยอายุ 90 ปี 

ส่วนระดับความสูงที่บลู ออริจิน พาขึ้นไป จะอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลเมตรจากพื้นดิน ก็คือ อยู่ในระดับเส้นคาร์เเมน (Kármán Line) ที่ทางสหพันธ์การบินนานาชาติได้บัญญัติให้เป็นเส้นแบ่งโลกและอวกาศ ส่วนราคาค่าตั๋วยังไม่มีเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่เคยมีราคาตั๋วประมูลที่เปิดเผยไว้อยู่ที่ประมาณ 28 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 920 ล้านบาท

SPACEX

ส่วนสเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ ซีอีโอดังของ Tesla แม้ว่าเขาจะทำธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศด้วยเช่นกัน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นอีลอน มัสก์ ดังนั้น เขาจึงเลือกทำการตลาด ที่แตกต่างจากสองบริษัทก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง 


โดยของสเปซเอ็กซ์จะเน้นไปที่การเดินทางท่องเที่ยว และใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศจริง ๆ หรือแบบ orbital ไม่ใช่แค่ไปแล้วกลับแบบบลูออริจินและเวอร์จิน กาแล็กติก สำหรับเที่ยวบินดังของสเปซเอ็กซ์ที่พาพลเรือนชุดแรก ที่ไม่ใช่นักบินอวกาศมืออาชีพ ขึ้นไปท่องเที่ยวและอาศัยอยู่อวกาศ ก็คือ ภารกิจ Inspiration4 ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเป็นการเดินทางด้วยจรวด ฟอลคอน ไนน์ และแคปซูล ดรากอน ลูกเรือทั้งสี่คน ได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักเป็นเวลาสามวันในขณะที่โคจรอยู่ห่างจากโลกประมาณ 372 ไมล์ หรือประมาณ 590 กิโลเมตร 

ส่วนความสำเร็จของสเปซเอ็กซ์นอกจากการพาลูกเรือไปท่องเที่ยวอวกาศนี้ก็คือการจับมือกับนาซา ทำภารกิจรับ-ส่ง นักบินอวกาศไปทำภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่น่าสนใจคือสเปซเอกซ์ยังได้รับเลือกจากนาซา ให้เข้าร่วมในภารกิจอาร์ทิมิส (Artemis)โครงการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี 2025 ตามแผนที่วางไว้ 

ส่วนแผนธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศระยะไกลของสเปซเอ็กซ์ที่วางไว้ ก็คือการพัฒนายานสตาร์ชิป Star Ship ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักคนและสิ่งของรวมกันได้มากกว่า 100 ตัน เพื่อนำคนขึ้นไปท่องอวกาศและเที่ยวดวงจันทร์แบบไปกลับ รวมถึงอาจจะพัฒนาให้ไกล ไปจนถึงการขนส่งมนุษย์ไปกลับระหว่างโลกและดาวอังคารส่วนราคาค่าตั๋ว ยังไม่มีประกาศแน่ชัด ขึ้นอยู่กับลักษณะทัวร์อวกาศที่อีลอน มัสก์จะจัดให้ คาดว่าจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,800 ล้านบาท ต่อหนึ่งที่นั่ง


ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่ยังต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น วงการภาพยนตร์ของรัสเซีย ที่พึ่งสร้างตำนานไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการส่งนักแสดงหญิงและผู้กำกับ ขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS จริง ๆ เป็นครั้งแรก ภารกิจนั้นใช้เวลา 12 วัน เดินทางด้วยยานอวกาศโซยุซ MS -19 แซงหน้าภารกิจของทอมครูซกับสเปซเอ็กซ์  

หรือ อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ การเตรียมสร้างสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกของโลก ชื่อว่า Orbital Reef (ออบิทอล รีฟ) ที่จะเปิดให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยสามารถใช้เป็นที่พักผ่อนระหว่างการท่องเที่ยว ถ่ายหนัง ไปจนถึงการเปิดเป็นพื้นที่สำหรับทำวิจัยบนอวกาศ เปิดกว้างให้ลูกค้าทุกระดับและทุกประเทศ สามารถมาขอเช่าเพื่อใช้บริการได้

จะเห็นได้ว่าต่อไป พื้นที่ว่างเปล่านอกโลก จะกลายไปเป็นแหล่งทำเงินมูลค่ามหาศาล ที่บรรดาบริษัทต่าง ๆ จะต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดที่จะครองแชมป์ความเป็นหนึ่งในธุรกิจอวกาศธุรกิจใหม่แห่งอนาคตอย่างแน่นอนสมัยก่อน การที่คนธรรมดาจะได้ขึ้นไปในอวกาศ แทบเป็นไปไม่ได้เลยนะคะ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้คนธรรมดาอย่างเราสามารถเดินทางไปชมบรรยากาศนอกโลกได้ง่าย ไม่ต่างจากการเดินทางไปต่างประเทศ ขอเพียงมีเงินจ่ายค่าตั๋วเท่านั้น


ขอบคุณข้อมูลจาก

cnbc, economist, tnnthailand, gadgets.ndtv, cbsnews, theverge, reuters, tnnthailand, space, nsm.or.th, tnnthailand, businessinsider, cnet, hindustantimes, metro.co.ukinsider

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง