รีเซต

ร้องหมอปลาช่วย สร้างบ้านทับทางผีผ่าน-โดนทำคุณไสย ป่วยโรคประสาททั้งบ้าน

ร้องหมอปลาช่วย สร้างบ้านทับทางผีผ่าน-โดนทำคุณไสย ป่วยโรคประสาททั้งบ้าน
ข่าวสด
8 มิถุนายน 2564 ( 16:03 )
128

 

ชาวบ้านร้อง 'หมอปลา' ช่วย เชื่อสร้างบ้านทับทางผีผ่าน ทำให้คนในบ้านป่วยเป็นโรคประสาทตั้งแต่พ่อยันลูก หรือไม่ก็โดนทำคุณไสยใส่จากความริษยา

 

 

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 8 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปที่บ้านหลังหนึ่งใน ต.นาข่า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านที่คนในครอบครัว เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการสร้างบ้านทับทางผีผ่าน เนื่องจากพบสิ่งผิดปกติของคนในครอบครัวนี้หลายเรื่อง

 

 

ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึง พบทีมแพทย์จาก รพ.สต.นาข่า และ รพ.มัญจาคีรี รวมทั้ง อสม. ลงพื้นที่มาพบคนในบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกัน 4 คน ประกอบด้วย นายวิจิตร คำพิทูล อายุ 62 ปี เจ้าของบ้าน, นางรุ่งราวรรณ คำพิทูล อายุ 42 ปี, ด.ญ.บี (นามสมมุติ) อายุ 14 ปี และนายคูน ไกรดวง อายุ47 ปี

 

 

นางรุ่งราวรรณ อายุ 42 ปี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานในวงหมอลำ และกำลังถูกปั้นให้เป็นนางเอก จากนั้นก็ถูกคนทำคุณไสยใส่ เพราะความอิจฉา ซึ่งเมื่อถูกทำคุณไสยจึงป่วยจิตเวช ครอบครัวได้พาไปรักษาตัวที่รพ.จิตเวชขอนแก่น กินยารักษาอาการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ต่อมาน้องสาว โตเป็นสาวอายุ 16 ปี ก็ป่วยจิตเวช และเสียชีวิต ขณะที่แม่ สุขภาพร่างกายแข็งแรงมาตลอด จนกระทั่งในช่วงอายุ 65 ปี ก็ป่วยเป็นมะเร็งปอด และเสียชีวิตเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

 

 

"คุณพ่อคือนายวิจิตร ซึ่งเป็นคนมีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด ไม่มีโรคประจำตัว แต่เมื่อปี 2554 ตอนกลางคืนพ่อร้องตะโกนขอความช่วยเหลือเสียงดังลั่น และว่าจะมีคนมาเอาชีวิต จากนั้นก็มีอาการเหม่อลอย ไม่สุงสิงกับคนในครอบครัว ไม่พูดคุยกับใคร แต่ยังกินข้าวได้ เมื่อพาไปพบแพทย์ จึงทราบว่าพ่อป่วยจิตเวช ต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต พ่อจึงกลายเป็นคนป่วยจิตเวชตลอดมาจนถึงปัจจุบัน" นางรุ่งราวรรณ กล่าว

 

 

นางรุ่งราวรรณ กล่าวต่อว่า ครอบครัวจึงรักษาอาการทางจิตให้กับพ่อมาอย่างต่อเนื่อง กินยา ฉีดยา ตามแพทย์สั่งตลอด ขณะที่ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ลูกสาวคือ ด.ญ.บี ซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้านก็มีอาการซึมเศร้า นั่งเหม่อลอย ไม่พูดคุยกับใคร จึงพาไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย ซึ่งแพทย์แจ้งว่า ลูกสาวป่วยโรคซึมเศร้า ต้องกินยารักษาอาการอย่างต่อเนื่อง

 

 

ประกอบกับในช่วงนี้เป็นช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลูกสาวจึงพักรักษาตัว เพราะไม่ได้ไปเรียนหนังสือ และในวันที่ 14 มิ.ย.ที่นี้ ลูกสาวต้องไปโรงเรียนเรียนหนังสือกับเพื่อนๆ ก็ต้องไปแจ้งกับทางโรงเรียน เพื่อให้ดูอาการของลูกสาว หากเรียนหนังสือไม่ได้ ก็จะไปรับกลับบ้าน

 

 

"ในกรณีอาการป่วยจิตเวชของดิฉัน และคนในบ้านนั้น ส่วนตัวคิดว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ เพราะญาติฝ่ายพ่อและแม่ ต่างก็มีคนป่วยจิตเวชมาหลายคน เมื่อมาถึงรุ่นลูก หลาน จึงป่วยจิตเวชกลายเป็นการติดเชื้อทางกรรมพันธุ์ แต่ก็อดคิดถึงกรณีความอิจฉาริษยา จนมีคนทำคุณไสยใส่ ทำให้จิตใจฟั่นเฟือน และกรณีที่ว่า บ้านสร้างทับทางผ่านผีนั้น

 

 

โดยส่วนตัวไม่เคยทราบมาก่อน เพราะทราบจากพ่อแม่ว่า ซื้อที่ต่อจากญาติมาสร้างบ้าน สร้างครอบครัวเท่าที่จำความได้ก็เห็นบริเวณบ้านโล่ง ไม่เห็นเป็นป่าช้าหรือสถานที่สำคัญแต่อย่างใด จึงไม่ทราบว่าเป็นทางผีผ่าน แต่ด้วยการเกิดความเจ็บป่วยของดิฉันและคนในคอบครัว จึงอยากให้หมอปลาลงพื้นที่มาตรวจสอบในบ้านว่า มีสิ่งไม่ดีใดๆในบ้านหรือไม่ หากมีก็จะแก้ไขให้ถูก เพื่อให้การป่วยของคน ของพ่อ ของลูก หายขาดไปได้" นางรุ่งราวรรณ กล่าว

 

 

ด้านนายคูน ไกรดวง อายุ 47 ปี สามีนางรุ่งราวรรณ กล่าวว่า ก่อนแต่งงาน ไม่ทราบว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช เมื่อแต่งงานมาได้ประมาณ 1 ปี เห็นยาที่ภรรยากินเป็นยาจิตเวช และภรรยามักจะบ่นด่า แบบไม่มีเหตุผล จึงทราบเรื่อง แต่ไม่ติดใจ ต่อมาพ่อตาก็ป่วยจิตเวช และลูกสาวก็ป่วยตามอีกคน ซึ่งไม่เคยคิดทิ้งขว้าง แต่ต้องการดูแลครอบครัว ลูกเมีย ให้มีความสุข ถึงเวลาไปหาหมอรับยา ฉีดยาก็พาไป และไม่เคยทรายว่าบ้านของพ่อตาแม่ยาย สร้างทับทางผีผ่าน จึงต้องการให้หมอปลามาดู เพื่อจะได้แก้ไขให้ครอบครัวดีขึ้น เพราะทุกวันนี้สงสารลูกสาวมาก อายุยังน้อยแล้วยังป่วยจิตเวชอีก อยากให้ลูกหาย เล่น เรียน กับเพื่อนเหมือนเมื่อก่อนได้ตามปกติ

 

 

ขณะที่ นางเพลิงทิพย์ ภาชนะ ผอ.รพ.สต.นาข่า และ นางนารีรัตน์ สุ่มศรีสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.มัญจาคีรี ซึ่งลงพื้นที่มาดูอาการป่วยของครอบครัวดังกล่าว ระบุว่า ครอบครัวดังกล่าวนี้ทุกคนอยู่ในความดูแลของแพทย์จิตเวช และ รพ.สต.นาข่า มาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมแพทย์ลงพื้นที่มาตรวจสุขภาพ และติดตามผลการรักษาและจากการรักษา

 

 

ที่ผ่านมามีผลที่น่าพอใจ ในส่วนของด.ญ.บี อายุ 14 ปี เมื่อก่อนไม่คุยกับใคร นั่งนิ่งเฉย เหม่อลอย แต่ในขณะนี้ดีขึ้น ยอมคุย ยอมกินยา จึงเชื่อว่า หากผู้ป่วยให้ความร่วมมือทางการรักษา ทุกอย่างก็จะดีขึ้นตามลำดับ เพราะการรักษาผู้ป่วยจิตเวชนั้นต้องใช้เวลา และผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่องตลอดไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง