รีเซต

ทำไมมนุษย์ถึงไม่มีขนเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น?

ทำไมมนุษย์ถึงไม่มีขนเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น?
TNN ช่อง16
27 เมษายน 2568 ( 13:50 )
19

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรก ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคไดโนเสาร์มีขนหนาแน่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยล้านปี บางสายพันธุ์ รวมถึงมนุษย์ ก็ได้วิวัฒนาการให้มีขนน้อยลง แล้วเหตุผลทางวิวัฒนาการที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้คืออะไร ?

ประโยชน์ของเส้นผมและขนสัตว์

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเส้นผมและขนสัตว์มีหน้าที่หลายประการ ทั้งช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกาย ปกป้องผิวหนังจากรังสีอาทิตย์และการบาดเจ็บ รวมถึงช่วยให้สัตว์รับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ความรู้สึกจั๊กจี้เมื่อมีบางสิ่งสัมผัสร่างกาย

แม้มองด้วยตาเปล่า ผิวหนังของมนุษย์จะดูเกือบไร้ขน แต่จริง ๆ แล้วมีขนเล็กละเอียดกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ข้อยกเว้น คือ บริเวณหนังศีรษะ ซึ่งขนมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องศีรษะจากแสงแดด ส่วนขนหนาในรักแร้และระหว่างขานั้นมีบทบาทช่วยลดแรงเสียดทานของผิวหนังและระบายความร้อนผ่านการกระจายเหงื่อ

ขนจึงยังคงมีบทบาทสำคัญ เพียงแต่คำถามคือ ทำไมมนุษย์จึงสูญเสียขนส่วนใหญ่ไป ?

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อ 7 ล้านปีก่อน ในช่วงที่สายพันธุ์มนุษย์แยกตัวจากชิมแปนซี แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน แต่หนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับความสนใจคือเรื่อง "การระบายความร้อน"

มนุษย์มีต่อมเหงื่อจำนวนมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ การระเหยของเหงื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลไกนี้น่าจะมีความสำคัญต่อบรรพบุรุษของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาอันร้อนระอุของแอฟริกา

ในขณะที่สัตว์ขนดกในสภาพอากาศร้อนอาจล้าและร้อนง่าย มนุษย์ยุคแรกสามารถล่าสัตว์โดยอาศัยการไล่ล่าอย่างต่อเนื่อง (Persistence hunting) ไม่ต้องวิ่งเร็วกว่าทว่าอาศัยความอึด จนเหยื่อเหนื่อยและล้มลง ด้วยการที่ไม่มีขนหนาและสามารถขับเหงื่อได้ดี มนุษย์จึงสามารถอดทนในสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าสัตว์ส่วนใหญ่

ความลับของยีนและการควบคุมขน

มาเรีย ชิคินา (Maria Chikina) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาเชิงคำนวณและระบบ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ได้วิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 62 ชนิด ตั้งแต่มนุษย์จนถึงตัวนิ่ม สุนัข และกระรอก

ผลการวิจัยพบว่ามนุษย์ยังคงมียีนทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับการงอกของขนหนา แต่ยีนบางตัวเหล่านี้ "ปิดการทำงาน" ไปแล้ว นั่นหมายความว่า ศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับการมีขนหนายังคงอยู่ แต่ไม่ถูกแสดงออกมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ภาวะผิดปกติที่เรียกว่า ภาวะผมมากผิดปกติ (hypertrichosis) หรือที่เรียกกันว่า "โรคหมาป่า" ผู้ป่วยจะมีขนหนาปกคลุมทั่วร่างกาย

ในประวัติศาสตร์ มีกรณีที่มีชื่อเสียงคือ เปตรุส กอนซัลวัส (Petrus Gonsalvus) ชาวสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้ซึ่งเกิดมาพร้อมภาวะนี้ เด็กชายผู้นี้เคยถูกนำไปถวายเป็นของขวัญแด่พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ก่อนที่ในภายหลังเขาจะได้รับการศึกษาและแต่งงานกับหญิงสาว ซึ่งเรื่องราวของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนิทาน "โฉมงามกับเจ้าชายอสูร"

แม้ภาวะนี้จะหายากมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมสามารถทำให้เกิดลักษณะที่แปลกและน่าทึ่งได้ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง