Rocket Lab ส่งดาวเทียม MATS สำเร็จแต่คว้าจรวดกลางอากาศล้มเหลว
บริษัท ร็อกเก็ต แลป (Rocket Lab) สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม MATS หรือ Mesospheric Airglow/Aerosol Tomography and Spectroscopy ขึ้นสู่อวกาศในภารกิจ Catch Me If You Can ภารกิจการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศและใช้เฮลิคอปเตอร์ดักจับคว้าจรวดกลางเพื่อนำจรวดกลับมาใช้งานใหม่
วันที่ 5 พฤศจิกายน ภายหลังจากจรวด Electron ของบริษัท ร็อกเก็ต แลป (Rocket Lab) ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศจรวดได้ทำการทิ้งตัวลงสู่พื้นโลกด้วยความเร็วสูงและกางร่มชูชีพออกมาเพราะชะลอความเร็วตามแผนการที่วางเอาไว้ บริษัทได้ทำการส่งเฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-92 จากฐานบินเพื่อไปดักจับคว้าจรวดกลางอากาศด้วยอุปกรณ์พิเศษ
อย่างไรก็ตามภารกิจนี้ล้มเหลวทีมงานไม่สามารถระบุตำแหน่งการตกของจรวดได้แน่นอน ทำให้เฮลิคอปเตอร์ต้องบินกลับฐานเพื่อความปลอดภัยและไม่สามารถดักจับคว้าจรวดกลางอากาศ ส่วนจรวดได้ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก บริษัทเตรียมใช้เรือชื่อ Baker เข้าทำการเก็บกู้ในลำดับต่อไป นับเป็นความพยายามที่ล้มเหลวครั้งที่ 2 ของบริษัทที่ต้องการดักจับคว้าจรวดกลางอากาศเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่
แนวคิดการใช้เฮลิคอปเตอร์ดักจับคว้าจรวดกลางอากาศนี้บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้จรวดตกลงสู่ทะเลภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจและนำจรวดกลับมาใช้งานใหม่ ซึ่งหากจรวดไม่ตกลงสู่ทะเลจะสามารถลดความเสียหายของระบบแผงวงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของจรวด Electron จากการกัดเซาะของน้ำทะเลได้
ดาวเทียม MATS เป็นดาวเทียมขนาดเล็กของ SNSA องค์การอวกาศแห่งชาติสวีเดน มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบคลื่นบรรยากาศและศึกษาทำความเข้าใจชั้นบรรยากาศโลก ความสัมพันธ์ระหว่างกระแสลม สภาพอากาศและพื้นดิน เดิมนั้นดาวเทียมดวงนี้มีกำหนดการส่งด้วยจรวดของประเทศรัสเซียแต่ต้องยกเลิกสัญญาการปล่อยดาวเทียมเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
สำหรับจรวด Electron นับเป็นจรวดรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กความสูง 18 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 เมตร ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท ร็อกเก็ต แลป (Rocket Lab) ใช้เพื่อขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่อวกาศ จรวดแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอน จรวดขั้นตอนแรกใช้เครื่องยนต์ Rutherford จำนวน 9 เครื่องยนต์ เชื้อเพลิงเหลว RP-1 และออกซิเจนเหลว LOX จรวดขั้นตอนที่สองใช้เครื่องยนต์ Rutherford จำนวน 1 เครื่องยนต์ เชื้อเพลิงเหลว RP-1 และออกซิเจนเหลว LOX จรวดรุ่นนี้ถูกออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ปัจจุบันทำภารกิจมาแล้ว 32 ภารกิจ นับจากปี 2017
ที่มาของข้อมูล space.com
ที่มาของรูปภาพ Twitter.com/RocketLab