รีเซต

โลกร้อนเร็วเกินคาด! อุณหภูมิพุ่ง-น้ำทะเลสูง-ภัยพิบัติถี่ และกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

โลกร้อนเร็วเกินคาด! อุณหภูมิพุ่ง-น้ำทะเลสูง-ภัยพิบัติถี่ และกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
TNN ช่อง16
27 พฤษภาคม 2568 ( 09:00 )
16

ข้อมูลย้อนหลังด้านอุณหภูมิโลกชี้ชัดว่า ภาวะโลกร้อนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงการเร่งตัวของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีผลกระทบรุนแรงและเกิดขึ้นไปทั่วโลก 


นอกจากนี้ ยังพบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของมหาสมุทรที่น่าตกใจ เนื่องจากกว่าร้อยละ 90 ของความร้อนจากภาวะโลกร้อนถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มระดับน้ำทะเลและความถี่ของพายุหมุนเขตร้อนอย่างชัดเจน


จากข้อมูลขององค์การ NOAA ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นราว 1.5 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงปี 1850–1923 กับช่วงศตวรรษที่ผ่านมา (1924–2024) พบว่าอัตราเร่งของโลกร้อนในศตวรรษที่ 21 สูงกว่าถึง 4 เท่า 


โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ปี 2016, 2023 และ 2024 ซึ่งตอกย้ำถึงแนวโน้มที่กำลังก้าวเข้าสู่จุดวิกฤติ เพราะความร้อนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเท่ากันทั่วโลก โดยภูมิภาคอาร์กติกมีอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 4 เท่า ส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ 

ขณะเดียวกันพื้นที่แผ่นดินใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย กำลังเผชิญกับภัยพิบัติรูปแบบใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้ง คลื่นความร้อน ความผันผวนของฤดูกาลที่ผิดเพี้ยน ไปจนถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสุขภาพประชากร


ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนภาวะโลกร้อนคือก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงสถิติกับอุณหภูมิโลกสูงมาก (r ≈ 0.94) ระดับ CO₂ ในปี 2023 พุ่งขึ้นแตะ 420 ppm ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา และในปีเดียวกันนั้น โลกก็มีอุณหภูมิสูงสุดในรอบศตวรรษ ก่อนจะถูกทำลายสถิติอีกครั้งโดยปี 2024 


ทั้งนี้ มนุษย์เป็นตัวการหลักในการปล่อย CO₂ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 55.4% ของการปล่อยทั้งหมด โดยกิจกรรมอุตสาหกรรม การคมนาคม และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินมีบทบาทอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ธรรมชาติก็มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน โดยแหล่งสำคัญได้แก่ไฟป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ มหาสมุทร น้ำแข็ง และภูเขาไฟ ซึ่งรวมแล้วอาจปล่อย CO₂ เทียบเท่าได้มากถึง 39.3 กิกะตันต่อปี 


อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศธรรมชาติที่เคยช่วยดูดซับคาร์บอน เช่น ป่าไม้ พื้นดิน และมหาสมุทร กำลังสูญเสียสมรรถภาพลงอย่างต่อเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกที่รบกวนไฟโตแพลงก์ตอนในมหาสมุทร หรือความแห้งแล้งที่ทำให้ดินไม่สามารถกักเก็บคาร์บอนในรูปของพีทหรือชั้นดินเยือกแข็งได้ เป็นตัวอย่างของวัฏจักรย้อนกลับที่กำลังเร่งอัตราโลกร้อนให้พุ่งสูงขึ้นไปอีก

การคาดการณ์ในอีก 25 ปีข้างหน้า โดยใช้แบบจำลองพหุนาม (polynomial regression) แสดงให้เห็นว่า หากแนวโน้มยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง โลกอาจเผชิญกับค่าความผิดปกติของอุณหภูมิที่เกิน +2°C ภายในปี 2045 ซึ่งจะทะลุผ่านหลายจุดวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และอาจเข้าสู่จุดที่เรียกว่า “ความเปลี่ยนแปลงแบบย้อนกลับไม่ได้” (irreversible change) 


ในหลายภูมิภาค โมเดลยังคาดว่า โลกอาจแตะระดับความร้อน +1.5°C ภายในช่วงต้นทศวรรษ 2030 ซึ่งเป็นเส้นแบ่งสำคัญที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีสว่าควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อระบบนิเวศ มนุษย์ และเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการคาดการณ์ของแบบจำลองอาจต่ำกว่าความเป็นจริงเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงปี 2022–2023 ที่ความร้อนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่แบบจำลองจะจับได้ แต่ก็ยังถือเป็นคำเตือนสำคัญว่าแนวโน้มจริงอาจเลวร้ายกว่าที่ปรากฏในข้อมูล


ดังนั้น จะเห็นว่าตอนนี้โลกไม่ได้อยู่ในภาวะ “อุ่นขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป” อีกต่อไป แต่กำลังเผชิญกับความเร่งตัวของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์โดยตรง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่เกิดขึ้นในระดับโลก และกระทบกับชีวิตของทุกคนบนโลกอย่างไม่มีข้อยกเว้น ขณะที่เวลาในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน กำลังน้อยลงทุกทีอย่างน่ากังวล 


ดังนั้น หากโลกยังเดินหน้าตามแนวโน้มปัจจุบันโดยไม่มีการปรับนโยบายระดับโครงสร้างหรือความร่วมมือระดับนานาชาติอย่างจริงจัง คำเตือนจากข้อมูลในอดีตจะกลายเป็นภาพสะท้อนของหายนะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง